หนี้เสีย คืออะไร? แก้ได้ไหม มีทางด่วนหรือเปล่า!

หนี้เสีย คืออะไร?
Table of Contents

Gen Y และ Gen X เป็นช่วงวัยที่สร้างหนี้เสียและเสี่ยงติดเครดิตบูโรสูงสุด! เพราะบริหารเงินผิด นอกจากชีวิตจะเปลี่ยนแล้ว อาจทำให้เสียประวัติด้วย คุณน้าจึงอยากพาไปทำความรู้จัก “หนี้เสีย หรือ NPL ว่าหนี้เสียคืออะไร” เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้หรือไม่? ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันค่ะ

*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ใช่บทความชักชวนการลงทุนแต่อย่างใด

หนี้เสีย คืออะไร?

หนี้เสีย หรือ NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan

หนี้เสีย หรือ NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan หากแปลตรงตัวจะหมายถึงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นั่นก็คือ หนี้หรือสินเชื่อที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด และไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตค่ะ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และเสียเครดิตได้ค่ะ

🔍 หนี้เสีย ดูยังไง และบ่งบอกถึงอะไร?

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า หนี้เสียเป็นหนี้หรือสินเชื่อที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่า ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้นั่นเองค่ะ ซึ่งหนี้เสียสามารถดูได้จากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • หากหนี้เสีย หรือ NPL มีค่าสูง จะเท่ากับว่า ลูกหนี้ของธนาคารมีการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนมาก
  • หากหนี้เสีย หรือ NPL มีค่าต่ำ จะเท่ากับว่า ลูกหนี้ของธนาคารมีการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนน้อยลง

ด้วยเหตุนี้เอง ค่าหนี้เสียหรือ NPL สามารถบ่งบอกได้ว่า ในตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างไร โดยสามารถวัดได้จากค่า NPL ว่าสูงหรือต่ำนั่นเอง


ไม่จ่ายกี่เดือนถึงเป็นหนี้เสีย?

ชำระหนี้ ก่อนเป็นหนี้เสีย คือใช้เวลากี่วัน

โดยปกติแล้ว การกู้ยืมเงินจะมีระยะเวลาชำระหนี้อยู่ที่ 90 วัน นั่นหมายความว่า หากเกินระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระเงินคืนได้ หนี้เหล่านั้นจะกลายเป็นหนี้เสียนั่นเองค่ะ


หนี้เสียปี 2024 มีอะไรบ้าง?

ข้อมูลหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 ระบุว่าหนี้เสียครัวเรือนพุ่งสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14.9% จากปีก่อน ทำให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เป็นห่วงว่า ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ค่ะ โดยหนี้เสียสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่

  • สินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท
  • ยอดหนี้บัตรเครดิตอ ยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท
  • หนี้ครัวเรือน อยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท


หนี้เสีย VS หนี้ดี ต่างกันอย่างไร?

หนี้เสีย

ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต ตัวอย่างหนี้เสีย เช่น

  • หนี้บัตรเครดิต
  • หนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด
  • หนี้นอกระบบ

หนี้ดี

ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างหนี้ดี เช่น

  • หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ
  • หนี้เพื่อการศึกษา
  • หนี้เพื่อความมั่นคงระยะยาว

สาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้เสีย มีอะไรบ้าง?

จากที่คุณน้าได้หาข้อมูลและสังเกตจากคนรอบตัวแล้ว สาเหตุของหนี้เสียส่วนมากมาจากปัจจัยเหล่านี้ค่ะ

  1. ความจำเป็นและภาระส่วนตัว
  2. ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
  3. วินัยและการจัดการทางการเงิน

คนที่เป็นหนี้หลายคนอาจมีภาระส่วนตัวที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะสร้างหนี้เพราะถูกกดดันจากครอบครัว หรือบางคนก็อาจสร้างหนี้จากความต้องการตัวเองค่ะ แต่สิ่งที่ตามมาในภายหลัง คือ ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้เหล่านั้นได้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ หรืออาจจะเพราะไม่มีวินัยในการบริหารเงิน จนทำให้เกิดหนี้เสียในที่สุดค่ะ


หนี้เสียส่งผลต่อเราอย่างไร?

ผลกระทบของหนี้เสีย NPL

หลายคนอาจมองว่า การยืมเงินมาใช้จ่ายส่วนตัวเป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว ถ้ามีเงินก็แค่ใช้คืน คุณน้าขอเตือนเลยค่ะว่าถ้าไม่พร้อมจ่ายหนี้อย่าทำเด็ดขาด เพราะมันจะส่งผลเสียต่อเราในอนาคต ดังนี้ค่ะ

  • ถูกทวงถามหนี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการทวงถามต่อไป
  • กลายเป็นประวัติทางการเงินที่ติดตัว จนอาจทำให้ติดเครดิตบูโร
  • ในอนาคตจะทำให้การกู้ยืมเงินเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้กู้
  • หนี้พอกพูนจากเงินที่ค้างชำระ
  • กระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและส่วนอื่น ๆ


หากลูกหนี้เสียชีวิต ทายาทต้องใช้หนี้ต่อไหม?

อันดับแรก คุณน้าจะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “มรดก” กันก่อนค่ะ

“กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600)

นั่นหมายความว่า มรดก คือ ทรัพย์สินของผู้ตายที่ตกทอดแก่ทายาท ซึ่งรวมถึงหนี้สินด้วยค่ะ ดังนั้น หากลูกหนี้เสียชีวิต ทายาทจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ต่อค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้สามารถติดตามหนี้กับทายาทเท่าที่ได้รับมรดกเท่านั้น หากหนี้เกินกว่ามรดกที่ได้รับ ทายาทก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายส่วนเกินให้ค่ะ

🔍 ข้อควรระวังเกี่ยวกับหนี้มรดก

  1. เจ้าหนี้ต้องฟ้องเอาเงินจากกองมรดกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เจ้าหนี้รู้ว่าเจ้าของมรดกเสียชีวิตเท่านั้น แต่ถ้ามีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหนี้ไม่รู้ ก็สามารถฟ้องได้ภายใน 10 ปีค่ะ
  2. การฟ้องทายาทมรดกให้ชำระหนี้ต้องฟ้องทุกคน จะฟ้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้
  3. หากทายาทไม่ได้รับมรดกเลย เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้ทายาทหาเงินเพื่อมาใช้หนี้แทนผู้ตายได้ค่ะ
  4. ตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับหนี้มรดกนั้น ใช้ได้กับหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ
  5. ทายาทต้องอ่านหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ให้ละเอียดก่อนเซ็นชื่อยินยอมเป็นลูกหนี้ต่อ


5 Step แก้หนี้เสีย (NPL) ง่าย ๆ เพื่อเครดิตที่ดี!

5 Step แก้หนี้เสีย (NPL) เพื่อเครดิตที่ดี

เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัวสำหรับคนไทย แต่เราแทบไม่เคยได้รับการปลูกฝังเรื่องการบริหารเงินมาก่อน ดังนั้น หากพลาดเป็นหนี้แล้วก็ต้องตั้งสติและเดินหน้าต่อไปค่ะ ซึ่งคุณน้ามีคำแนะนำสำหรับการแก้หนี้ให้ทุกคนนำไปปรับใช้ทั้งหมด 5 Step โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ

Step 1 : สำรวจหนี้สิน, ค่าใช้จ่าย และรายได้ของตัวเอง

ก่อนจะเริ่มแก้หนี้ เราต้องสำรวจหนี้สินทั้งหมดว่ามียอดเท่าไหร่ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง จากนั้น สำรวจค่าใช้จ่ายและรายได้ของตัวเองเพื่อหาแผนการเงินที่เหมาะสมต่อไปค่ะ

Step 2 : วางแผนทางการเงินเพื่อปลดหนี้

ลำดับต่อมา คือ การวางแผนทางการเงิน (Money Management) เพื่อปลดหนี้ โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

  1. เงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  2. เงินสำหรับสิ่งที่จำเป็น (เช่น ค่าที่พักอาศัย, ค่าน้ำ และค่าไฟ เป็นต้น)
  3. เงินสำหรับใช้หนี้

โดยอัตราส่วนการแบ่งเงินที่ได้รับความนิยม คือ 50/30/20 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การแบ่งเงินดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับยอดหนี้, ค่าใช้จ่าย และรายได้ของตัวเองเป็นหลัก แต่อย่างน้อย ๆ จะต้องแบ่งเงินไว้จ่ายหนี้ 10% ของรายได้ค่ะ

🔍 เกร็ดความรู้! ทำไมต้องแบ่งจ่ายหนี้ 10% ของรายได้?

การแบ่งจ่ายหนี้ 10% ของรายได้ เป็นการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและไม่ถือว่าสูงจนเกินไปค่ะ เพราะบางคนมีภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง ทำให้การหักเปอร์เซ็นต์ที่มากจนเกินไป อาจก่อให้เกิดความเครียด จนสุดท้ายไม่สามารถวางแผนทางการเงินเพื่อปลดหนี้ได้สำเร็จนั่นเองค่ะ

Step 3 : เจรจาแก้ไข NPL เพื่อรักษาเครดิต

ถ้ามีหนี้เยอะและหนี้นั้นเป็นหนี้ในระบบ เราอาจจะต้องเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้หรือลดจำนวนดอกเบี้ยลงชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้และแผนการเงินของเราค่ะ ซึ่งมันจะทำให้ลดภาระการจ่ายหนี้และดอกเบี้ยพอกพูนต่อไปค่ะ

Step 4 : ทำตามแผนที่ตั้งไว้

หลังจากที่วางแผนจัดสรรเงินแล้ว ทุกคนจะต้องทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่มีวินัยอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือสิ่งรอบตัวได้ ดังนั้น เราจึงต้องวางแผนที่พอดีกับกำลังของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถจ่ายหนี้คืนได้นั่นเองค่ะ

Step 5 : จ่ายหนี้ให้ตรง ไม่ก่อหนี้เพิ่ม

ระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละเจ้าจะไม่ตรงกันอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงควรเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินสูงสุดค่ะ เพราะหากจ่ายไม่ตรงเวลาจะมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาจ่ายหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยมหาโหดก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ

และที่สำคัญอีกข้อเลย คือ ห้ามก่อหนี้เพิ่มอีกเด็ดขาด เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นหนี้พอกพูนไม่จบไม่สิ้น กลายเป็นว่า ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดและทบไปเรื่อย ๆ นั่นเองค่ะ

ทั้งหมดนี้ก็คือ 5 ขั้นตอน ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่หลายคนกลับทำตามไม่ได้ และเลือกที่จะหันหลังหนีปัญหา ทำให้หนี้พอกพูน ดังนั้น หากทุกคนกำลังเป็นหนี้อยู่ คุณน้าขอแนะนำให้เคลียร์หนี้ตัวเองให้จบ วางแผนการเงินให้ดี และอย่าเป็นหนี้อีกจะดีที่สุดค่ะ!


มีทางด่วนแก้หนี้ไหม?

ทุกเส้นทางไม่มีทางลัด ดังนั้น คุณน้าไม่แนะนำให้หาทางด่วนเพื่อแก้ไขหนี้ที่ตัวเองสร้างไว้โดยเด็ดขาดค่ะ เพราะมันอาจทำให้ปัญหาหนักกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ดี หากมีหนี้เสียในระบบมากเกินไป หรือประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งส่งผลให้ทุกคนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ อาจมีการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีผู้คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้หนี้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคลินิกแก้หนี้*, ผู้ให้คำปรึกษาทางการเงิน และลูกหนี้อีกหลายคนในกลุ่มต่าง ๆ ที่คอยให้คำแนะนำและกำลังใจดี ๆ ดังนั้น คุณน้าจึงหวังว่า ทุกคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินจะสามารถผ่านไปได้ค่ะ

📌 Tip! คลินิกแก้หนี้เสีย* คืออะไร?

คลินิกแก้หนี้เสีย คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้ อย่างผู้ประกอบการทางการเงินหรือสถาบันการเงินแบบครบวงจร นอกจากนี้ คลินิกหนี้เสียยังให้ความรู้ที่เกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินแก่ประชาชนอีกด้วยค่ะ เพื่อให้ประชาชนสามารถบริหารการเงินได้ดีและลดการก่อให้เกิดหนี้เสียในอนาคตได้ ในปัจจุบันมีคลินิกแก้หนี้เสียให้บริการหลายราย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ Debtclinicbysam เป็นต้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับหนี้เสีย (NPL) คืออะไร?

หนี้เสีย มีอะไรบ้าง?

หนี้เสียสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ หนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต

หนี้เสีย มีผลอะไรบ้าง?

หนี้เสียจะส่งผลต่ออนาคตของเราเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น คุณจะมีประวัติทางการเงินที่ติดตัว จนอาจทำให้ติดเครดิตบูโรได้ หรือแม้แต่การสร้างหนี้ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

NPL ย่อมาจากอะไร?

NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan คือ หนี้สินหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั่นเอง


สรุป หนี้เสีย คืออะไร? แก้ได้ไหม ?!

การบริหารเงินที่ผิดพลาด จ่ายเงินช้า อาจนำไปสู่หนี้เสียได้ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบหนี้สินให้ดี จ่ายให้ตรงเวลา และวางแผนการเงินให้ดีเพื่อไม่ให้ติดกับดักหนี้จะดีที่สุดค่ะ เพราะหากติดหนี้เสียหรือ NPL และเครดิตบูโรแล้ว จะทำให้เสียประวัติทางการเงิน เวลาจะกู้เงินในอนาคตก็ลำบากหรือกู้ไม่ผ่าน แต่หากเป็นหนี้อยู่ก็มาวางแผนดีให้ดีค่ะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงานคุณน้าพาเทรด

ขอบคุณข้อมูลจาก : Bangkokbiznews, DDproperty, Dharmniti, Wealth Connex และ Thai PBS


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 By คุณน้าพาเทรด

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ 2,690 ดอลลาร์อีกครั้งค่ะ

Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ปี 2025
Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ฉบับอัปเดตปี 2025

วันนี้คุณน้าเลยอยากจะหยิบยกโบรกเกอร์ Exness มาให้ทุกคนได้อ่านกัน เผื่อว่าท่านใดที่สนใจหาข้อมูลโบรกเกอร์อยู่จะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

Day Trade คืออะไร เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด
Day Trade คืออะไร? เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด

Day Trade (เดย์เทรด) คือ กลยุทธ์สำหรับเทรดเดอร์ที่ชื่นชอบการเปิดปิดออเดอร์ภายในวันเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น