วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน
Table of Contents

“ภาษี” เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่จำเป็นต้องยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แต่เชื่อหรือไม่คะว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่า ต้องวางแผนยื่นภาษีอย่างไร ทำให้พลาดโอกาสสำคัญอย่างการลดหย่อนภาษีไปค่ะ ดังนั้น คุณน้าจึงเลือกเขียนบทความเกี่ยวกับ “การวางแผนยื่นภาษีออนไลน์สำหรับวัยทำงาน” เพื่อประโยชน์ทั้งต่อคนที่เป็น First Jobber และผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ค่ะ

ภาษีคืออะไร?

อันดับแรก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ภาษี” คืออะไร? ซึ่งนิยามตามที่กรมสรรพากรกำหนด ภาษี (Tax) คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นรายได้นำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องนำส่งให้แก่ภาครัฐค่ะ

ภาษีสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่

  1. ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่ไม่สามารถผลักภาระให้บุคคลอื่นแทนได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมรดก เป็นต้น
  2. ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่สามารถผลักภาระให้บุคคลอื่นแทนได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีศุลกากร เป็นต้น

หากมนุษย์เงินเดือนต้องยื่นภาษีจำเป็นต้องยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งเป็นภาษีทางตรงที่ต้องจ่ายเองเท่านั้นค่ะ

ยื่นภาษีช่วงไหน?

โดยปกติแล้ว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปีค่ะ และหากเป็นช่องทางออนไลน์จะสามารถยื่นภาษีได้ถึงต้นเดือนเมษายน โดยทุกคนสามารถยื่นภาษีได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ๆ คือ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!
  • ดำเนินการด้วยเอกสารผ่านสำนักสรรพากรพื้นที่ หรือส่งไปรษณีย์ไปยังกองบริหารการคลังและรายได้ของกรมสรรพากร
  • ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

สำหรับคุณน้า ขอแนะนำว่า ให้ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์จะสะดวกที่สุดค่ะ เพราะสามารถอัปโหลดเอกสารต่าง ๆ ทั้งใบทวิ 50 และเอกสารลดหย่อนภาษีได้ผ่านรูปแบบไฟล์ ไม่จำเป็นต้องปริ้นท์เอกสารเพื่อนำส่งให้ยุ่งยาก และไม่เสี่ยงทำให้เอกสารหายอีกด้วยค่ะ!

ทำไมต้องยื่นและเสียภาษี?

เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะคะว่า “ยื่นภาษี” ไม่เท่ากับ “เสียภาษี” เพราะการยื่นภาษีเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องยื่นอยู่แล้ว และไม่ใช่ทุกคนที่ยื่นภาษีแล้วจะต้องเสียภาษีค่ะ เพราะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้นที่ต้องจ่าย

หากไม่ต้องเสียภาษีแล้วยังจำเป็นต้องยื่นภาษีอยู่หรือไม่? คุณน้าขอตอบว่า “จำเป็นค่ะ” เพราะถือเป็นการแสดงหลักฐานรายได้และการทำธุรกรรม ทำให้ไม่โดนตรวจสอบ เรียกเก็บ และเสี่ยงต่อการโดนปรับย้อนหลังนั่นเองค่ะ

ส่วนทำไมต้องเสียภาษี? คำตอบก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นเลยค่ะว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่จะต้องนำส่งให้รัฐ หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเด็ดขาดค่ะ

ถ้าไม่ยื่นหรือเสียภาษีจะเกิดอะไรขึ้น?

หากมีรายได้แต่ไม่ได้ยื่นภาษี คุณอาจจะโดนบทลงโทษตามระดับความร้ายแรงดังต่อไปนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!
  1. กรณีไม่จ่ายภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5 % ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย
  2. กรณีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่จ่ายภาษีไม่ครบ ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มและเสียเบี้ยปรับอีก 1-2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย
  3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนด ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท
  5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากโทษในข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเสียอีกอย่าง คือ คุณอาจจะพลาดเงินคืนที่บริษัทหรือนายจ้างหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายค่ะ

รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี?

สำหรับมนุษย์เงินเดือนต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะต้องเสียภาษี? คำตอบคือ มีเงินได้สุทธิเกิน 150,001 บาทขึ้นไป โดยเสียตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่บังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 ดังต่อไปนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

ส่วนคนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพียงแต่ต้องยื่นภาษีเพื่อนำส่งเป็นหลักฐานในการตรวจสอบเท่านั้นค่ะ

การวางแผนภาษีคืออะไร?

การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อทำให้เราสามารถคาดการณ์การเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ทำให้เรารู้ว่า เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หากมากเกินไปก็จะได้หาแผนรับมือเพื่อลดหย่อนภาษีได้นั่นเองค่ะ

การวางแผนยื่นภาษีออนไลน์เบื้องต้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน

หากคุณต้องการวางแผนภาษี สามารถเริ่มต้นได้ดังนี้ค่ะ

1. ทราบประเภทเงินได้ของตัวเอง 

อันดับแรก คุณจำเป็นต้องทราบประเภทเงินได้ของตัวเอง ซึ่งประกอบไปด้วย 8 กลุ่ม ดังนี้ค่ะ

  • เงินได้ประเภทที่ 1 เช่น เงินเดือน, ค่าจ้าง และโบนัส เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 2 เช่น ค่าคอมมิชชัน และเบี้ยประชุม เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 3 เช่น ค่าลิขสิทธิ์ และค่ากู๊ดวิลล์ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 4 เช่น ดอกเบี้ย, เงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากการขายหน่วยลงทุนหรือ Cryptocurrency เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 5 เช่น ค่าเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งบ้าน ที่ดิน หรือยานพาหนะ เป็นต้น
  • เงินได้ประเภทที่ 6 เช่น ค่าวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์
  • เงินได้ประเภทที่ 7 เช่น ค่ารับเหมาก่อสร้าง
  • เงินได้ประเภทที่ 8 เช่น การค้าขายต่าง ๆ, อุตสาหกรรม, ประมง และเหมืองแร่ เป็นต้น

ข้อควรรู้ คือ หากคุณเป็นพนักงานที่มีรายได้จากการจ้างงานประเภทเดียว ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ก็จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 แต่หากคุณมีรายได้จากช่องทางอื่นด้วย เช่น การลงทุน ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ก็ต้องเปลี่ยนมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แทนค่ะ


2. ทราบสิทธิลดหย่อนภาษี

ในการคำนวณภาษี จะมีค่าลดหย่อนหลัก ๆ อยู่แล้ว คือ ค่าใช้จ่ายที่กรมสรรพากรกำหนดให้หักได้ร้อยละ 50 สูงสุด 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท แต่นอกจาก 2 รายการนี้แล้ว ทุกคนยังสามารถเข้าร่วมรายการลดหย่อนอื่น ๆ ได้ดังนี้ค่ะ

  • สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร, ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ และโครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนประกันสังคม, ประกันชีวิต และกองทุนรวมประเภท SSF และ RMF เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา

ซึ่งสิทธิประโยชน์ในข้างต้นนี้ นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังสามารถให้คุณประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งการได้รับสินค้า, หน่วยลงทุน หรือแม้แต่กรมธรรม์คุ้มครอง เป็นต้นค่ะ


3. ทราบวิธีคำนวณภาษี

นอกจากจะต้องทราบประเภทเงินได้และสิทธิในการลดหย่อนภาษีแล้ว คุณยังจำเป็นต้องทราบวิธีคำนวณด้วย ซึ่งการคำนวณภาษีต้องคำนวณในอัตราแบบขั้นบันได ดังนี้ค่ะ


เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

  • เงินได้ คือ รายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดทั้งปีปฏิทิน
  • เงินได้สุทธิ คือ เงินได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • ค่าใช้จ่าย คือ กรมสรรพากรกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายจากเงินได้มาตรา 40 (1) และ 40 (2) ได้ร้อยละ 50 สูงสุด 100,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน คือ รายการลดหย่อนต่าง ๆ ที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว, คู่สมรส, บุตร, ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา และค่าอุปการะผู้พิการ เป็นต้น

จากนั้น นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได ดังนี้ค่ะ

วางแผนยื่นภาษีออนไลน์ฉบับมนุษย์เงินเดือน รู้ก่อนได้เปรียบ!

ตัวอย่างเช่น คุณน้ามีรายได้ทั้งปีเป็นจำนวนเงิน 480,000 บาท ซึ่งคุณน้าสามารถลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 50% สูงสุด 100,000 บาท, ลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท และลดหย่อนค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี ได้คนละ 30,000 บาท ดังนั้น เงินได้สุทธิของคุณน้าจึงสามารถคำนวณได้ดังนี้ค่ะ

480,000 (เงินได้) – 100,000 (ค่าใช้จ่าย) – [60,000 + (30,000×2)] (ค่าลดหย่อน)

สุดท้าย เงินได้สุทธิของคุณน้าจะเท่ากับ 260,000 บาท แสดงว่า คุณน้าต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งเท่ากับ 5,500 บาท เป็นต้นค่ะ

ทำไมต้องวางแผนภาษี?

การวางแผนภาษีจะทำให้เราทราบว่า เราต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งจากตัวอย่างในการคำนวณภาษีข้างต้นจะเห็นว่า หากคุณน้าไม่มีค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูพ่อแม่เลย คุณน้าอาจจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% เพราะมีรายได้เกิน 300,001 บาท หรือก็คือ 320,000 บาท ซึ่งหากคำนวณแล้วจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 9,500 บาทค่ะ ทุกคนเห็นความต่างของตัวเลขกันหรือยังคะ? 

ดังนั้น คุณน้าจึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษี เพราะหากเราทราบว่าตัวเองต้องเสียภาษีเท่าไหร่ก็จะสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ต่อไป ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น อีกทั้ง ยังได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วยค่ะ

สรุปการวางแผนยื่นภาษีออนไลน์

ชาวไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นวัยทำงานจะต้องเสียภาษีเงินได้ โดยหากมีการวางแผนภาษีเข้ามาช่วยก็จะทำให้ทุกคนทราบกระบวนการในการคำนวณภาษีและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนต่าง ๆ ทำให้เราไม่เสียผลประโยชน์ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, กรมสรรพากร 3, กรุงเทพธุรกิจ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, PPTV, iTAX

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 By คุณน้าพาเทรด

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ 2,690 ดอลลาร์อีกครั้งค่ะ

Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ปี 2025
Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ฉบับอัปเดตปี 2025

วันนี้คุณน้าเลยอยากจะหยิบยกโบรกเกอร์ Exness มาให้ทุกคนได้อ่านกัน เผื่อว่าท่านใดที่สนใจหาข้อมูลโบรกเกอร์อยู่จะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

Day Trade คืออะไร เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด
Day Trade คืออะไร? เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด

Day Trade (เดย์เทรด) คือ กลยุทธ์สำหรับเทรดเดอร์ที่ชื่นชอบการเปิดปิดออเดอร์ภายในวันเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 13 มกราคม 2568
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 13 มกราคม 2568 By คุณน้าพาเทรด

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2568 กันค่า วิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ บทวิเคราะห์ภาพรวมปัจจัยพื้นฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้น 18