เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็มีเรื่องราวมากมายให้เราต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเงิน ภาษี บัตรเครดิต การกู้ซื้อต่าง ๆ ประกันชีวิต ตลอดจนเรื่องสำหรับชีวิตคู่และวัยเกษียณ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่มีสอนในชั้นเรียน ทำให้คนวัยทำงานจำนวนมากพลาดโอกาสบางอย่างไปค่ะ และหนึ่งเรื่องที่คนส่วนมากมักจะพลาดตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็คือ “การลดหย่อนภาษี” ค่ะ
หลายคนอาจมองว่า การลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ลดได้ไม่เยอะ จ่าย ๆ ไปก็จบ แต่ทราบหรือไม่คะว่า การลดหย่อนภาษีนอกจากจะทำให้คุณประหยัดเงินแล้ว ยังทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย และหากรวมเงินที่ลดหย่อนทบไปเรื่อย ๆ ก็ถือเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลเช่นกัน ดังนั้น จะดีกว่ามั้ยคะถ้าเราเริ่มวางแผนลดหย่อนภาษีตั้งแต่วันนี้!
ภาษีคืออะไร?
ภาษี (Tax) คือ เงินที่ประชาชนและผู้ประกอบการต้องนำส่งให้แก่รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยภาษีที่วัยทำงานต้องจ่าย คือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี ทุกคนสามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรหรือผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้เช่นกัน
การวางแผนภาษีคืออะไร?
การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อทำให้เราสามารถคาดการณ์การเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ทำให้เรารู้ว่า รายได้ของเราจัดเป็นเงินได้ประเภทไหน คำนวณภาษีอย่างไร ต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากต้องเสียภาษีจะมีการจัดการอย่างไร ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปอ่านวิธีวางแผนและคำนวณภาษีเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้ค่ะ
การลดหย่อนภาษีคืออะไร?
การลดหย่อนภาษี คือ การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เราจ่ายภาษีน้อยลง ซึ่งโครงการสนับสนุนเหล่านี้มักจะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมหรือนิสัยบางอย่างให้แก่ประชาชน ทำให้รายการลดหย่อนภาษีอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี เช่น ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่ต้องการกระตุ้นให้คนแต่งงาน หรือโครงการช้อปดีมีคืนที่รัฐต้องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงพิษเศรษฐกิจ เป็นต้นค่ะ
โดยเราสามารถนำรายการลดหย่อนภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ในปีนั้น ๆ ไปลบออกจากเงินได้ ทำให้เงินได้สุทธิของเราลดลง ดังนั้น เราจึงเสียภาษีน้อยลงนั่นเองค่ะ
ประโยชน์ของการลดหย่อนภาษี
การลดหย่อนภาษีสำคัญอย่างไร? ทำไมทุกคนจึงไม่ควรมองข้าม คุณน้าจะสรุปประโยชน์แบบ x2 ของการลดหย่อนภาษีให้ดังนี้ค่ะ
1) ลดการจ่ายภาษีที่มากเกินจำเป็น
หากคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิโดยที่ไม่มีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็เหมือนกับว่า ทุกคนซื้อของชิ้นหนึ่งในราคาเต็ม ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ส่วนลดได้เพียงแสดงสิทธิ์และปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่ถ้าทุกคนใช้ส่วนลดในจุดนี้และนำเงินส่วนลดที่ได้มาไปใช้จ่ายหรือเก็บออมไว้แทน ทุกคนก็จะประหยัดขึ้นได้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ
หากติดตามวิธีการคำนวณภาษีจากบทความการวางแผนยื่นภาษีออนไลน์แล้ว ทุกคนจะสังเกตว่า คุณน้าได้ส่วนลดจากค่าลดหย่อนเกือบเท่าตัวเลย ถือว่าประหยัดเงินได้หลายพันเลยค่ะ แถมตัวอย่างการคำนวณดังกล่าวยังไม่รวมค่าลดหย่อนภาษีในส่วนอื่น ๆ ที่คุณน้าสามารถเข้าร่วมได้ด้วย ดังนั้น หากทุกคนมีการวางแผนภาษีดี ๆ หารายการลดหย่อนที่สามารถเข้าร่วมได้ก็อาจทำให้คุณประหยัดรายจ่ายในส่วนนี้ ดีไม่ดีก็อาจทำให้คุณไม่ต้องจ่ายภาษีเลยก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของรายการลดหย่อนนั้น ๆ ให้ถูกต้องด้วยนะคะ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็อาจเปลี่ยนจากได้รับประโยชน์เป็นเสียค่าปรับสูงถึง 1.5% ต่อเดือนแทนค่ะ
2) ได้สิทธิประโยชน์อื่นนอกจากส่วนลด
นอกจากส่วนลดที่ได้แล้ว หากเข้าร่วมรายการลดหย่อนภาษีที่รัฐต้องการกระตุ้นก็จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น
- หากเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน คุณก็จะได้รับสินค้าที่คุณต้องการ
- หากเข้าร่วมโครงการดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย คุณก็จะได้รับบ้านหรือคอนโด เป็นต้น
- หากเข้าร่วมค่าลดหย่อนภาษีในกลุ่มประกันและการลงทุน คุณก็จะได้รับหน่วยลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ หรือประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจมีการลดหย่อนภาษีบางรายการที่ไม่ได้ให้คุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นประโยชน์แบบนามธรรมที่รัฐต้องการกระตุ้นให้เกิดนิสัยนั้น ๆ เช่น
- ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรส
- ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับบุตร
- ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการเลี้ยงดูบิดามารดา
ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัว การมีบุตร ตลอดจนการเลี้ยงดูพ่อแม่ในวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากใครมีครอบครัวที่มีเงื่อนไขเข้าเกณฑ์ก็สามารถเข้าร่วมรายการลดหย่อนดังกล่าวได้ค่ะ เพราะจะทำให้คุณได้ส่วนลดเพิ่มมากขึ้น
รายการลดหย่อนภาษี 2566
อย่างที่กล่าวไปนะคะว่า รายการลดหย่อนภาษีของแต่ละปีอาจมีความแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งในปี 2566 นี้ มีรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ตามเงื่อนไข ดังนี้ค่ะ
1. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว
โดยการลดหย่อนสำหรับตนเองและครอบครัว ได้แก่
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท สำหรับคู่ที่มีการจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสมจะต้องไม่มีรายได้*
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 60,000 บาท*
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท (บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ต้องเกิดตั้งแต่ปี 2561 จึงจะได้รับค่าลดหย่อนคนละ 60,000 บาท) โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรืออายุเกิน 25 ปี แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ
- ค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สามารถใช้กับบิดามารดาของตนเองหรือคู่สมรสก็ได้ แต่บิดามารดาต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท*
- ค่าลดหย่อนในการอุปการะผู้พิการและทุพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ, หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ และผู้พิการจะต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
*หมายเหตุ รายการดังกล่าวผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิ์ได้ 1 คนเท่านั้น คู่สมรสหรือพี่น้องที่ร่วมเงื่อนไขไม่สามารถใช้สิทธิ์ซ้ำได้
2. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน
โดยการลดหย่อนสำหรับประกันและการลงทุน ได้แก่
- ประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นบริษัทประกันในไทย และมีระยะคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจริง 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริง 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
3. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
โดยการลดหย่อนสำหรับเงินบริจาค ได้แก่
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
4. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยการลดหย่อนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่
- โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับสินค้าและบริการในประเทศระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐาน ซึ่งสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ รวมถึง E-Book
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งหมดนี้ คือ 21 รายการลดหย่อนภาษีที่ทุกคนสามารถนำมาไปใช้ได้ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ค่ะ หากใครกำลังวางแผนภาษีอยู่ อย่าลืมนำรายการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมนะคะ เพราะมันอาจจะทำให้คุณประหยัดเงินได้อย่างไม่คาดคิดเลยค่ะ
รายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ
นอกจากรายการลดหย่อนแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับรายการต่อไปนี้ด้วยค่ะ
- ยกเว้นเครดิตภาษีเงินปันผล ได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
- ยกเว้นเงินได้สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ 190,000 บาทแรก
Tips 5 ขั้นตอนวางแผนลดหย่อนภาษี เพื่อรับสิทธิประโยชน์แบบ x2
รายการลดหย่อนภาษีมีมากถึง 21 รายการ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองเข้าเกณฑ์เงื่อนไขใดบ้าง สามารถใช้สิทธิ์ได้หรือไม่ คุณน้ามีวิธีวางแผนลดหย่อนภาษีง่าย ๆ มาให้ทุกคนได้ทำตามกันค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของรายการลดหย่อนภาษี
อันดับแรก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลดหย่อนภาษีมีทั้งหมดกี่รายการ แต่ละรายการมีเงื่อนไขใดบ้าง ซึ่งคุณน้าก็ได้สรุปรายละเอียดและเงื่อนไขแต่ละรายการไว้ให้ในข้างต้นแล้ว ทุกคนสามารถเซฟเก็บไว้เผื่อกลับมาอ่านอีกครั้งได้เลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษีของตนเอง
หากทราบว่าตัวเองเข้าเงื่อนไขใดก็ให้ลิสต์ไว้ จากนั้นเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรในส่วนของ “ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี (My Tax Account)” คลิกข้อมูลปีภาษีล่าสุดและกดตรวจสอบข้อมูลได้เลยค่ะ
อย่างไรก็ดี รายการลดหย่อนบางประเภทจะไม่ปรากฏ หากยังไม่ได้ยื่นแสดงหลักฐานในช่วงยื่นภาษีค่ะ ซึ่งทุกคนอาจจะลองใช้โปรแกรมหรือ Application ในการคำนวณภาษีเบื้องต้นอย่าง iTAX เพื่อวางแผนภาษีคร่าว ๆ ก็ได้เช่นกันค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 เตรียมเอกสารและหลักฐานเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี
ถ้ามั่นใจว่าตัวเองตรงตามเกณฑ์และเงื่อนไขของรายการลดหย่อนนั้น ๆ ก็ให้เตรียมเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีในปีนั้น ๆ ไว้ด้วยค่ะ เช่น
- ใบ 50 ทวิ
- ทะเบียนสมรส
- ใบสูติบัตรบุตร
- ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/ สุขภาพ
- หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร
- ใบเสร็จรับเงินการซื้อกองทุน
- หลักฐานการบริจาค
- ใบกำกับภาษี/ ใบเสร็จรับเงินโครงการช้อปดีมีคืน
- เอกสารประกอบการยื่นแบบ
หมายเหตุเพิ่มเติมตัวใหญ่ ๆ ด้วยนะคะว่า บลจ. และบริษัทประกันบางแห่ง เราจำเป็นต้องติดต่อไปเพื่อแสดงความยินยอมให้บริษัทเหล่านั้นนำส่งข้อมูลการถือหน่วยลงทุนหรือการชำระเบี้ยประกันให้กับกรมสรรพากรโดยตรงด้วยค่ะ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบกับบริษัทที่ตัวเองใช้งานอยู่กันด้วยนะคะ
ขั้นตอนที่ 4 ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
เมื่อถึงช่วงยื่นภาษีของทุกปี ให้ทำเรื่องผ่านสำนักงานสรรพากรท้องที่หรือเว็บไซต์ของกรมสรรพากรในช่วงที่กำหนด ซึ่งคุณน้าแนะนำให้ยื่นออนไลน์จะสะดวกที่สุดค่ะ และในการยื่นภาษีอย่าลืมกรอกข้อมูลการลดหย่อนให้ครบถ้วนด้วยนะคะ เพราะถ้าไม่กรอกข้อมูลก็จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนนั้น ๆ ค่ะ
ขั้นตอนที่ 5 ตรวจสอบข้อมูลและนำส่งเอกสาร
ขั้นตอนสุดท้าย คือ ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนและกดขอเงินคืนภาษีก่อนกดยื่นแบบ จากนั้นอัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรในส่วน “สอบถาม/ ส่งเอกสารขอคืนภาษี” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการพิจารณา ซึ่งหากเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ก็จะร้องขอให้เราส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้น อย่าลืมเข้ามาตรวจสอบสถานะ และเชื่อมหมายเลข PromptPay เป็นเลขประจำตัวประชาชนเพื่อความสะดวกกันด้วยนะคะ
สรุปการวางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อรับสิทธิประโยชน์
การยื่นและเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้พึงกระทำ แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้จากการลดหย่อนต่าง ๆ ดังรายการข้างต้น ซึ่งการใช้สิทธิ์ดังกล่าวถือเป็นการบริหารเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น คุณน้าจึงหวังว่า ทุกคนจะใช้สิทธิ์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, iTAX, Finnomena
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge