ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีของคู่รัก LGBTQ+ ทุกคนเลยค่ะ และที่สำคัญยังเป็นการยกระดับความเท่าเทียมทางเพศของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย โดยสิทธิทางการเงินที่คู่รัก LGBTQ+ ควรรู้ จะมีเรื่องอะไรบ้าง? ในบทความนี้ คุณน้าจะพาทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ!
*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการชักชวนเพื่อลงทุนแต่อย่างใด
กฎหมายสมรสเท่าเทียม คืออะไร?
กฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสมรสระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยไม่ได้จำกัดแค่การสมรสระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการสมรสทุกเพศสภาพ ทุกอัตลักษณ์ ให้มีสิทธิขั้นพื้นฐานตามศักดิ์ศรีของมนุษย์คนหนึ่งพึงมีค่ะ
🔍 Tip สมรสเท่าเทียมเหมือนหรือต่างจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือไม่?
จากที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนคงสับสนว่า สมรสเท่าเทียมเหมือนหรือต่างจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต แท้จริงแล้ว พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันค่ะ โดยคุณน้าจะขออธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่า สมรสเท่าเทียม คือ บุคคลทุกเพศสภาพสามารถสมรสกันได้ รวมทั้ง ยังได้สิทธิตามคู่สมรสชาย-หญิงทุกประการ
ในขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันได้เหมือนคู่ชาย-หญิง แต่สิทธิบางประการจะถูกจำกัด ยกตัวอย่างเช่น สมรสเท่าเทียมจะให้สิทธิคู่สมรสในการใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะไม่สามารถให้สิทธินี้ได้ค่ะ
บุคคลลักษณะใดที่จะได้รับการยกเว้นสิทธิการสมรส
- บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว
- บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้ไร้ความสามารถ
- บุคคลที่เป็นญาติสืบสายโลหิตเดียวกัน เช่น พี่น้องร่วมบิดามารดา, ปู่ย่าตายาย, พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา
- บุคคลที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม
กฎหมายสมรสเท่าเทียม บังคับใช้วันไหน?
หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศรับรองการสมรสระหว่างบุคคลที่ไม่ใช่แค่ “เพศชายและเพศหญิง” อีกต่อไป โดยกฎหมายแพ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อพ้น 120 วันนับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2025 ที่จะถึงนี้ค่ะ
สิทธิทางการเงินที่คู่รัก LGBTQ+ ควรรู้ มีอะไรบ้าง?
การประกาศใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถือเป็นก้าวสำคัญ สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ในประเทศไทย เพราะการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ใช้เวลานานถึง 22 ปี เพื่อให้สิทธิในการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน โดยปราศจากการใช้เพศสภาพมาเป็นข้อกำหนด
ดังนั้น ในบทความนี้ คุณน้าพาเทรดจะมาสรุปสิทธิทางการเงินขั้นพื้นฐานที่คู่รัก LGBTQ+ ควรรู้ 7 ข้อ มาให้อ่านกันค่ะ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. สิทธิในการแต่งงาน
มาเริ่มกันที่สิทธิในการแต่งงานตามที่กฎหมายให้การรับรอง โดยคู่รัก LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้จำกัดแค่ชาย-หญิง แต่เป็นบุคคล-บุคคล โดยสิทธิในการแต่งงานของคู่รัก LGBTQ+ มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
- บุคคลทุกเพศจะมีสิทธิในการหมั้นหรือสมรส เมื่อมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป กรณีเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย
- สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ ซึ่งรวมถึงการใช้นามสกุลในชื่อกลาง หากได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
- สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทยได้ (สามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ หรือสถานทูตไทยในต่างประเทศ)
🔍 Tip จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมใช้อะไรบ้าง?
กรณีคู่สมรสชาวไทย
- บัตรประชาชน
- สัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี)
- พยานบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน
- กรณีผู้เยาว์ต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครองทั้ง 2 ฝ่าย
กรณีคู่สมรสชาวต่างชาติ
- หนังสือเดินทาง
- หนังสือรับรองการสมรส
- เอกสารที่มีการแปลเป็นภาษาไทย โดยจะต้องได้รับการรับรองจากสถานกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
2. สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วม
สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- คู่สมรสสามารถซื้อขาย หรือถือครองทรัพย์สินร่วมกันได้ เช่น บ้าน, ที่ดิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ
- ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน, โบนัส, ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาจากพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือที่ระบุไว้ว่าเป็นสินสมรส รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัว
- กฎหมายรองรับการเป็นเจ้าของร่วม (Joint Ownership) โดยไม่ต้องมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกิดจากเพศมาจำกัด
- สามารถแบ่งปันทรัพย์สินคนละครึ่งตามระบบสินสมรส ในกรณีที่เกิดการหย่าร้าง หรือหากทรัพย์สินนั้น ได้มาหลังจดทะเบียน ซึ่งเกิดจากการทำมาหากินร่วมกัน
- การปล่อยเงินกู้สามารถทำได้ หากได้รับการยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดประโยชน์เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
🔍 ข้อสังเกต หากคู่สมรสไม่ต้องการแบ่งสินสมรส สามารถทำได้อย่างไร?
หากคู่สมรสไม่ต้องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสมรส สามารถทำสัญญาเป็นหนังสือ เพื่อแบ่งทรัพย์สินให้ชัดเจน แล้วถือไปตอนจดทะเบียนสมรสได้
3. สิทธิในการอุปการะบุตรร่วมกัน
สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการอุปการะบุตรบุญธรรมร่วมกัน สามารถทำได้เมื่อจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่คู่รัก LGBTQ+ สามารถอุปการะบุตรบุญธรรมได้เพียงคนเดียว โดยสิทธิในการอุปการะบุตรบุญธรรมร่วมกัน มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- บุตรบุญธรรมสามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสได้
- มีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลบุตรบุญธรรมอย่างเต็มที่
4. สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่คู่รัก LGBTQ+ ควรรู้ มีทั้งหมด 3 ข้อสำคัญ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สามารถลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อคน ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
- ได้รับการยกเว้นเสียภาษีมรดก ในกรณีที่คู่สมรสเกิดการเสียชีวิต
- เงินได้ที่ได้มาด้วยความเสน่หาจากคู่สมรส ซึ่งไม่เกิน 20,000,000 บาท ต่อปีภาษี ไม่จำเป็นต้องนำมาคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
5. สิทธิในการรับมรดก
สำหรับสิทธิในการรับมรดกที่คู่รัก LGBTQ+ ควรรู้ เมื่อจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
- คู่สมรสมีสิทธิเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย ในกรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายเสียชีวิต ซึ่งคู่สมรสจะถือเป็นทายาทโดยชอบธรรมอันมีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกเว้นผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นแทน
6 สิทธิในการหย่าร้าง
โดยปกติแล้ว การหย่าร้างถือเป็นธรรมชาติของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ซึ่งสิทธิในการหย่าร้างของคู่รัก LGBTQ+ เมื่อจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม จะมีสิทธิเหมือนกันกับคู่สมรสชายหญิงค่ะ โดยคุณน้าขอยกตัวอย่าง 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
- สิทธิในการเรียกค่าทดแทน หากอีกฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
- สิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งเป็นชู้ของคู่สมรส
- สิทธิในการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือการแบ่งสินสมรสตามกฎหมาย ในกรณีหย่าร้าง
7. สิทธิประโยชน์อื่น ๆ
นอกจากสิทธิทางการเงินที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว คู่รัก LGBTQ+ ยังสามารถได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากภาครัฐ โดยคุณน้าขอยกตัวอย่าง 9 สิทธิประโยชน์ มีรายละเอียด ดังนี้
- คู่สมรสสามารถระบุชื่อของกันและกัน เป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุได้
- สิทธิในการใช้สวัสดิการประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น เงินบำนาญคู่สมรส ในกรณีเสียชีวิต
- สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาลของคู่สมรส
- สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคู่สมรส
- สิทธิในการบรรจุข้าราชการ ในกรณีที่คู่สมรสเกิดการเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่
- สิทธิในการได้รับเงินชดเชย ในกรณีการเสียชีวิตหรืออุบัติเหตุของคู่สมรส เช่น เงินประกันสังคม หรือเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตในที่ทำงาน
- สิทธิในวันลาพักร้อนหรือวันลา เพื่อดูแลคู่สมรสในกรณีเจ็บป่วย
- คู่สมรสสามารถเปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน เพื่อการออม, การลงทุน หรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- คู่สมรสสามารถกู้สินเชื่อร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน, คอนโด หรือที่ดิน เป็นต้น
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย เมื่อสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว
หากไทยมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หลังจากวันที่ 22 มกราคม 2025 เป็นต้นไป จะไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นไปอีกระดับหนึ่งได้เช่นกันค่ะ เพราะการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจประกันภัย หรือแม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับการแต่งงานก็จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และไทยจะกลายเป็นปลายทางที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกเพศอีกด้วยค่ะ
เรียกได้ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่เพียงแค่เพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในสังคมเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คู่สมรส LGBTQ+ มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่อีกด้วยค่ะ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม
สมรสเท่าเทียม เริ่มใช้วันไหน?
สมรสเท่าเทียมจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2025 เป็นต้นไป
บุคคลลักษณะใดไม่สามารถสมรสกันได้?
- บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว
- บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้ไร้ความสามารถ
- บุคคลที่เป็นญาติสืบสายโลหิตเดียวกัน เช่น พี่น้องร่วมบิดามารดา, ปู่ย่าตายาย, พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา
- บุคคลที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม
5 ตัวอย่างสิทธิทางการเงินที่คู่สมรส LGBTQ+ จะได้รับ มีอะไรบ้าง?
- สิทธิในการแต่งงาน
- สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วม
- สิทธิในการอุปการะบุตรร่วมกัน
- สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
- สิทธิในการรับมรดก
สรุปกฎหมายสมรสเท่าเทียมสำคัญอย่างไร?
จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยให้การยอมรับและเปิดกว้างกับคู่สมรสทุกเพศสภาพ ทุกอัตลักษณ์ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ เทียบเท่ากับคู่สมรสชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแต่งงาน, สิทธิด้านภาษี หรือแม้แต่สิทธิในการรับมรดก เป็นต้น อีกทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มโอกาสให้หลาย ๆ ธุรกิจสามารถเติบโตได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :Thairath, iLaw และ Thai PBS
สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge