สงครามถือเป็นโศกนาฏกรรมที่หลายท่านไม่อยากเห็นและไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ค่ะ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังกระทบต่อการเมือง, เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการลงทุน ดังนั้น คุณน้าจะมาแนะนำหลุมหลบภัยในช่วงสงครามจากการลงทุนทองคำและหุ้นกันค่ะ
Timeline สงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์ (ฮามาส) 2023
- 7 ตุลาคม 2023 : เกิดการโจมตีแบบไม่คาดคิดของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ (ฮามาส) ในฉนวนกาซาและตอนกลางของอิสราเอล
- 8 ตุลาคม 2023 : กลุ่มฮามาสพยายามบุกยึดสถานีตำรวจ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธในเลบานอนอย่างฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ได้ยิงกระสุนโจมตีพื้นที่ตอนเหนือของอิสราเอล ทำให้ประเทศพันธมิตรของอิสราเอลอย่างสหรัฐฯ ประกาศส่งกองเรือรบเข้าช่วยเหลือ
- 9 ตุลาคม 2023 : อิสราเอลประกาศตัดไฟฟ้าและปิดกั้นไม่ให้มีการขนส่งอาหารและเชื้อเพลิงเข้าไปยังกาซาเพื่อปิดล้อม ขณะที่กลุ่มฮามาสออกมาขู่ประหารชีวิตตัวประกัน
- 11 ตุลาคม 2023 : กลุ่มติดอาวุธในซีเรียเปิดฉากโจมตีตอนเหนือของอิสราเอลเป็นกลุ่มที่ 3 ส่งผลให้พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอิสราเอลมีมติจัดตั้งรัฐบาลฉุกเฉินและคณะรัฐมนตรีภาวะสงคราม
- 12 ตุลาคม 2023 : รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) พยายามเสนอความช่วยเหลือและเจรจา
- 17 ตุลาคม 2023 : ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – กลุ่มฮามาสมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้ามถูกโจมตี
สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากค่ะ ซึ่งการต่อสู้ครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม 2023 มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,400 รายในอิสราเอล และอีก 3,000 รายในฉนวนกาซา นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามองค่ะ
จุดเริ่มต้นสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์
คุณน้าขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในครั้งนี้ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ด้วยนะคะ โดยบทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อหาผลประโยชน์หรือซ้ำเติมผู้สูญเสีย คุณน้าเพียงหวังว่า มันจะเป็นบทความที่สามารถช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ จากผลกระทบของสงครามที่เกิดขึ้นเท่านั้นค่ะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สงครามในครั้งนี้จะสงบลงโดยเร็ววันและไม่มีผู้เสียชีวิตอีกนะคะ
การปรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงสงคราม
หากเกิดสงครามหรือความขัดแย้งขึ้น สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ การปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ค่ะ เพราะในช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลได้ง่าย ทำให้ตลาดมีความไม่แน่นอนจนราคามีความผันผวนสูง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรปรับกลยุทธ์ในการลงทุน ดังนี้ค่ะ
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงสงคราม : ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย
สินทรัพย์ทางการเงินบางประเภทนั้นมีความอ่อนไหวต่อเหตุความขัดแย้งได้ง่าย ทำให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราจึงควรย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เพื่อรักษามูลค่าของสินทรัพย์ในช่วงดังกล่าวค่ะ
สินทรัพย์ปลอดภัยที่น่าลงทุนในช่วงสงคราม
- ทองคำ
- หุ้นตั้งรับ
- พันธบัตรรัฐบาล
- สกุลเงินหลัก
- เงินสด
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงสงคราม : ลงทุนแบบ DCA
นอกจากการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ที่ถือครองแล้ว การปรับรูปแบบการลงทุนก็มีความสำคัญเช่นกันค่ะ เพราะการจับจังหวะตลาดหรือการคาดการณ์ความเป็นไปได้อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนนี้ ดังนั้น นักลงทุนสามารถใช้แผน DCA (Dollar Cost Averaging) เพื่อสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวได้ค่ะ
คุณน้าแนะนำ : การลงทุนทองคำและหุ้นในช่วงสงคราม
สินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยมในช่วงสงคราม คือ ทองคำและหุ้นตั้งรับค่ะ ดังนั้น คุณน้าจะพาไปดูแนวโน้มการลงทุนของสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนี้ว่าเป็นอย่างไร และมีหุ้นตัวไหนที่น่าสนใจกันค่ะ
หุ้นตั้งรับน่าลงทุนในช่วงสงคราม
หุ้นตั้งรับ (Defensive Stock) ถือเป็นหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด เพราะมีพื้นฐานหุ้นที่ค่อนข้างแข็งแรง ความเสี่ยงต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนมากจะอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ค่ะ
- หุ้นตั้งรับกลุ่มสินค้าจำเป็น
- หุ้นตั้งรับกลุ่มสาธารณูปโภค
- หุ้นตั้งรับกลุ่มสุขภาพ
- หุ้นตั้งรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฐานที่ตั้งบริษัท, การนำเข้าและส่งออกของประเทศที่เกิดวิกฤติ, จำนวนนักท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อหุ้นที่เสียและได้รับประโยชน์แตกต่างกันค่ะ
ตัวอย่างหุ้นตั้งรับไทยน่าลงทุนในช่วงสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์
- หุ้นที่ได้รับประโยชน์ : หุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น PTTEP เนื่องจากประเทศตะวันออกกลางเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ราคาหุ้นเกี่ยวกับพลังงานพุ่งสูงขึ้นค่ะ นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่มีงบการเงินดี จ่ายปันผลสม่ำเสมออย่าง KBANK, SCB, PTT, SPALI และ DMT ด้วยค่ะ
- หุ้นที่เป็นกลาง : เนื่องจากอิสราเอลไม่ใช่ประเทศส่งออก Soft Commodities หลัก ดังนั้น ผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์จึงมีจำกัดค่ะ ตัวอย่างหุ้นในกลุ่มนี้ เช่น TU และ AAI เป็นต้นค่ะ ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นกลาง คือ หุ้นกลุ่มสุขภาพอย่าง BH และ BDMS เนื่องจากคนไข้หลักอยู่ในกลุ่มตะวันออกกลางค่ะ
- หุ้นที่เสียประโยชน์ : หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและสายการบิน เช่น ERW, CENTEL, SHR, MINT, AOT และ BAFS จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
ตัวอย่างดังกล่าวสำหรับหุ้นไทยเท่านั้นนะคะ หากต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยค่ะ และแม้ว่าหุ้นบางกลุ่มจะเสียผลประโยชน์ไปในช่วงดังกล่าว แต่นักลงทุนบางท่านอาจมองเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นประเภทใด กรุณาพิจารณาความเสี่ยงรวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมให้รอบด้านกันด้วยนะคะ
การลงทุนทองคำในช่วงสงคราม
ไม่ว่าจะเกิดสงครามหรือวิกฤติใด ๆ ขึ้น ทองคำเป็นสินทรัพย์แรก ๆ ที่คนมองหาค่ะ นั่นทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุผลเป็นเพราะทองคำสามารถรักษามูลค่าได้ดี, มีอัตราผันผวนต่ำ, สภาพคล่องสูง, มีผลตอบแทนระยะยาวชนะเงินเฟ้อ และที่สำคัญ คือ ทองคำมีความสัมพันธ์เชิงลบกับเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ราคาทองคำไม่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจนั่นเองค่ะ
ทองคำนับเป็นหลุมหลบภัยที่ได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงวิกฤติต่าง ๆ ที่ยังคงรักษามูลค่ามาได้อย่างเสมอค่ะ ซึ่งแตกต่างจากหุ้นตั้งรับที่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านประกอบ ดังนั้น การลงทุนในทองคำจึงถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากค่ะ
ตัวอย่างการลงทุนทองคำในช่วงสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์
ตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เริ่มปะทุในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ราคาทองคำได้พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน และหากสงครามยังคงยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ราคาทองคำก็อาจจะพุ่งขึ้นไปอีกค่ะ
สรุปการลงทุนทองคำและหุ้นในช่วงสงคราม
ในช่วงแห่งความขัดแย้งและความไม่แน่นอนนี้ เราควรวางแผนการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในช่วงดังกล่าว คือ การลงทุนทองคำและหุ้นค่ะ แต่อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถทราบได้ว่าสงครามจะจบลงเมื่อใด ดังนั้น อย่าลืมวางแผนระยะยาว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ข่าวหุ้น, PPTVHD36, Thairath, MGR Online, Trading Economics
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge