“ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม” สำคัญอย่างไร เท่าไหร่ดี ?

ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม สำคัญอย่างไร เท่าไหร่ถึงจะดี
Table of Contents

เมื่อต้องเลือกกองทุนรวม นอกจากวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องดูแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ “ค่าธรรมเนียม” ค่ะ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้อาจทำให้ผลตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับหายไปเกือบครึ่ง หากลงทุนในระยะยาว ดังนั้น คุณน้าจะพาทุกคนไปดูกันว่า ค่าธรรมเนียมสำหรับกองทุนรวมคิดอย่างไร? เก็บจากอะไรบ้าง? แล้วต้องเลือกค่าธรรมเนียมที่เท่าไหร่กันนะ?


ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม คืออะไร? 

ค่าธรรมเนียม คือ ค่าบริการที่เรียกเก็บตามกฎหมายแก่ผู้ใช้ ไม่ว่าเราจะใช้บริการใด ๆ เราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกับเราซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งค่ะ

ทำไมกองทุนรวมถึงมีค่าธรรมเนียม? นั่นก็เพราะว่า กองทุนจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการภายใน ทั้งการซื้อ ขาย สับเปลี่ยน จัดการ ดูแลผลประโยชน์ และอื่น ๆ ดังนั้น บลจ. จึงจำเป็นต้องเก็บเงินจากลูกค้า เพื่อนำไปบริหารกองทุนนั่นเอง

เสียค่าธรรมเนียมก็ถูกต้องแล้ว ทำไมต้องมาดูอีกว่า แต่ละกองคิดเท่าไหร่? นั่นก็เพราะเราเลือกกองทุนเหมือนสินค้าชิ้นหนึ่งค่ะ ดังนั้น ค่าธรรมเนียมจะสามารถบอกได้ว่า เราซื้อของชิ้นนั้นถูกหรือแพง


ประเภทของค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

ค่าธรรมเนียมของกองทุนมาจาก 2 ส่วน ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือชี้ชวน (Fund Fact Sheet) ของแต่ละกองทุน ดังนี้ค่ะ

ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

1. ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

เกิดขึ้นขณะที่เราซื้อ – ขายหน่วยลงทุน ซึ่งคิดเป็น % ของมูลค่าการซื้อขาย โดยจะถูกหักออกจากมูลค่าเงินลงทุน หลังคำสั่งซื้อขายถูกยืนยันเรียบร้อยแล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเมื่อเราซื้อกองทุนแล้วจึง “ติดลบทันที” นั่นเองค่ะ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราซื้อกองทุน A ด้วยเงิน 500 บาท หากกองทุนนี้เก็บค่าธรรมเนียมขายอยู่ที่ 1% หลังจากคำสั่งซื้อสำเร็จ จำนวนเงินที่ปรากฏในพอร์ตจะเป็น 495 บาท

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน มาจากอะไรบ้าง?

  • ค่าธรรมเนียมขาย (Front-End Fee) : เกิดขึ้นเมื่อ บลจ. ขายกองทุนให้เรา หรือก็คือ เราซื้อกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back-End Fee) : เกิดขึ้นเมื่อ บลจ. รับซื้อกองทุนของเราคืน หรือก็คือ เราขายกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า (Switching-In Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราย้ายเงินจากกองทุนอื่นมายังกองทุนที่ถืออยู่ (บลจ. เดียวกัน)
  • ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก (Switching-Out Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราย้ายเงินจากกองทุนที่ถืออยู่ไปยังกองทุนอื่น (บลจ. เดียวกัน)
  • ค่าธรรมเนียมการโอน (Transfer Fee) : เกิดขึ้นเมื่อเราโอนสิทธิ์ในหน่วยลงทุนให้ผู้อื่น

นอกจากนี้ กองทุนรวมประเภทลดหย่อนภาษีอย่าง RMF และ SSF ที่มีการกำหนดระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน หากเราถือไม่ครบตามที่กำหนด อาจต้องจ่ายค่าปรับที่ออกก่อนกำหนด (Exit Fee) ด้วยค่ะ ดังนั้น คุณน้าขอเตือนให้ทุกคนอ่านเงื่อนไขให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อขายนะคะ


ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม

2. ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม

เกิดขึ้นหลังจากที่เราซื้อกองทุนแล้ว โดยเงินส่วนนี้จะไม่ถูกเรียกเก็บจากเงินในบัญชีของเราโดยตรง แต่จะถูกหักจากสินทรัพย์สุทธิ (NAV) เป็นประจำทุกวัน โดยคิดเป็น % ต่อปี

ตัวอย่างเช่น กองทุน A เก็บค่าบริหารจัดการ ปีละ 3% (3% หารด้วย 365 วัน) ซึ่งเท่ากับ 0.0082% ต่อวัน นั่นหมายความว่า NAV ที่เราเห็นในแต่ละวันนั้น นอกจากจะบวก/ลบกำไรขาดทุนแล้ว ยังหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ด้วย

ค่าธรรมเนียมที่หักจากกองทุนรวม มาจากอะไรบ้าง?

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าจัดการกองทุนให้แก่ “ผู้จัดการกองทุน” โดยกองทุนแบบ Active มักจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่ากองทุนแบบ Passive
  • ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าดูแลให้แก่ “ผู้ดูแลผลประโยชน์” ที่ทำหน้าที่รับรอง NAV และผลประโยชน์ตามนโยบายของกองทุน
  • ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Registrar Fee) : ถูกเก็บเพื่อเป็นค่าดูแลให้แก่ “นายทะเบียน” ที่ทำหน้าที่ดูแลรายชื่อและสิทธิประโยชน์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของเรา

นอกจากค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ทางกองทุนอาจมีค่าบริหารงานอื่น ๆ ได้เช่นกันค่ะ ดังนั้น เราจึงต้องอ่าน Fund Fact Sheet เพื่อตรวจสอบว่า กองทุนนั้น ๆ มีค่าธรรมเนียมส่วนไหนบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน


การดูค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

การดูค่าธรรมเนียมกองทุนรวม

นอกจาก Fund Fact Sheet ที่สามารถดูค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้แล้ว เรายังสามารถดูรายละเอียดได้จากแอปพลิเคชันของนายหน้าที่เราซื้อขาย รวมถึงเว็บไซต์แนะนำกองทุนต่าง ๆ ที่เขาสรุปออกมาให้ดูง่ายขึ้นได้เช่นกันค่ะ

โดยค่าธรรมเนียมจะถูกแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ค่าธรรมเนียมตามหนังสือชี้ชวน หรือก็คือ ค่าใช้จ่ายสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น 
  • ค่าธรรมเนียมที่เก็บจริง หรือค่าใช้จ่ายที่เราเสียจริง ๆ ในปัจจุบัน

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มักจะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน และมีการระบุ “ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด” ไว้เพื่อแจ้งแก่นักลงทุน ซึ่งเราสามารถใช้ตัวเลขเหล่านี้เพื่อตัดสินใจในการเลือกกองทุนค่ะ


ค่าธรรมเนียม ทำให้กำไรลดลงจริงหรือ ?

ทำไม “ค่าธรรมเนียม” จึงสำคัญ? จากที่คุณน้าได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากเราซื้อกองทุน ค่าธรรมเนียมจะถูกเก็บตั้งแต่ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ขณะที่เราถือหน่วยลงทุน และเมื่อเราขายหน่วยลงทุนทิ้งไป ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จึงเยอะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

และที่สำคัญเลย คือ ยิ่งค่าธรรมเนียมสูง ผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วยค่ะ ตัวอย่างเช่น หากเราลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท นาน 5 ปี ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7% ผลตอบแทนที่ลบด้วยค่าธรรมเนียม จะเป็นดังนี้ค่ะ

ค่าธรรมเนียม ทำให้กำไรลดลงจริงหรือ ?

ตัวอย่างข้างบนนี้ คิดด้วยเงินเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ไม่มีการ DCA ค่ะ ซึ่งหลังผ่านไป 5 ปี ค่าธรรมเนียม 2.5% จะทำให้ผลตอบแทนของเราลดลงไปถึง -12.54% ขณะเดียวกัน หากเรามีการ DCA สะสมหน่วยลงทุนไปเรื่อย ๆ มีการทบต้นทบดอก และลงทุนนานกว่านี้ มันก็จะทำให้ผลตอบแทนของเราหายไปเกือบครึ่งได้ ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของค่าธรรมเนียมกันหรือยังคะว่าน่ากลัวแค่ไหน


หลักการเลือกกองทุนจาก “ค่าธรรมเนียม”

1) เปรียบเทียบกองทุนที่นโยบายเหมือนกัน

การเปรียบเทียบนโยบายการลงทุน จะทำให้เราทราบว่า มีกองทุนไหนบ้างที่ลงทุนแบบเดียวกัน จากนั้น มันจะทำให้เราเห็นถึงโอกาส กลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน และสุดท้าย คือ “ค่าธรรมเนียม” ที่เป็นตัวตัดสินค่ะ เพราะมันอาจทำให้ผลตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับหายไปมากกว่าที่เราคาดคิด

โดยเฉพาะกองทุนที่เป็น Feeder Fund ซึ่งอาจมี Master Fund เดียวกัน เรายิ่งต้องเปรียบเทียบเพื่อใช้ค่าธรรมเนียมในการตัดสิน

2) เน้นลงทุนในกองทุนแบบ Passive Fund

อย่างที่ทุกคนรู้ กองทุนแบบ Passive Fund จะประหยัดค่าธรรมเนียมการจัดการได้มากกว่า Active Fund ดังนั้น หากต้องการลงทุนระยะยาว และไม่อยากเห็นผลตอบแทนหายไปมากนัก เราอาจเลือกกองทุนแบบ Passive Fund แทนค่ะ

3) ไม่ซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ

นี่เป็นอีกข้อที่สำคัญมาก ๆ และหลายคนอาจไม่รู้ เพราะทุกการซื้อขายจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้ง เช่น ถ้าเราจะ DCA กองทุน A ทุกเดือน เราต้องเสียค่าธรรมเนียมรายครั้ง 0.50% ซึ่งรวม 12 ครั้ง จะเท่ากับ 6% นั่นจึงเป็นเหตุผลที่กองทุนรวมเหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะเราจะได้เปรียบในเรื่องค่าธรรมเนียมมากกว่าการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นค่ะ

4) ติดตามผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียม

สุดท้าย ทุกคนต้องอย่าลืมนะคะว่า ค่าธรรมเนียมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะไม่เกินจากเพดานสูงสุดที่ถูกระบุไว้ใน Fund Fact Sheet ค่ะ ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบค่าธรรมเนียมของกองทุน รวมถึงผลการดำเนินงานของกองทุน เทียบในกลุ่มเดียวกัน เพื่อพิจารณาเปลี่ยนกองทุน หากผลการดำเนินงานไม่ดี


สรุปรวม “ค่าธรรมเนียม” กองทุนรวม เท่าไหร่ถึงจะดี ?

จากทั้งหมดนี้ คุณน้าเชื่อว่า ทุกคนจะต้องเห็นถึงความสำคัญของค่าธรรมเนียมแล้วอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่า ต้องเลือกที่ค่าธรรมเนียมต่ำ ๆ ถึงจะดีนะคะ เพราะทุกคนต้องทราบด้วยว่า นโยบาย โอกาส การดำเนินงาน ตลอดจนผลตอบแทนของกองทุนก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้น หากต้องตอบว่า ต้องเลือกที่ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ คุณน้าขอแนะนำว่า ให้ทุกคนลองเปรียบเทียบกองทุนที่นโยบายเหมือนกันก่อน จากนั้นค่อยเลือกที่ค่าธรรมเนียมต่ำสุดค่ะ

แนวคิดเรื่องค่าธรรมเนียมนี้ ทุกคนสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสินทรัพย์ และทุกเรื่องในชีวิตประจำวันเลยค่ะ มันจะทำให้เราได้ของที่คุ้มค่า พร้อมกับประหยัดเงินในกระเป๋ามากขึ้น แม้จะเป็นเงินเพียงไม่กี่บาท แต่เมื่อทบยอดกันแล้วก็สร้างผลกระทบได้เช่นกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : SEC1, SEC2, Checkraka

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 By คุณน้าพาเทรด

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 20 มกราคม 2568 ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ 2,690 ดอลลาร์อีกครั้งค่ะ

Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ปี 2025
Exness ดีไหม? รีวิวทุกข้อสำคัญ ฉบับอัปเดตปี 2025

วันนี้คุณน้าเลยอยากจะหยิบยกโบรกเกอร์ Exness มาให้ทุกคนได้อ่านกัน เผื่อว่าท่านใดที่สนใจหาข้อมูลโบรกเกอร์อยู่จะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

Day Trade คืออะไร เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด
Day Trade คืออะไร? เรียนรู้การเป็นเทรดเดอร์รายวันแบบละเอียด

Day Trade (เดย์เทรด) คือ กลยุทธ์สำหรับเทรดเดอร์ที่ชื่นชอบการเปิดปิดออเดอร์ภายในวันเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น