ทุกวันนี้จะซื้อขายอะไรก็สะดวกมากขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะสั่งตอนไหนก็จ่ายเงินได้! แต่รู้หรือไม่คะว่า ความสะดวกสบายเหล่านี้ได้มาจาก Payment Gateway ระบบชำระเงินออนไลน์ที่เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางให้เรากับร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งระบบดังกล่าวไม่ได้ใช้เพียงกับร้านค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโบรกเกอร์ Forex และธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยค่ะ
ดังนั้น ในบทความนี้ คุณน้าจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก Payment Gateway กันค่ะว่า Payment Gateway คืออะไร? Payment Gateway เจ้าไหนดีที่ร้านค้าออนไลน์และโบรกเกอร์ Forex นิยมใช้ 2024 ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!
*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ใช่บทความชักชวนการลงทุนแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

Payment Gateway คืออะไร?
Payment Gateway คือ ช่องทางการชำระเงินออนไลน์เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อการทำธุรกรรมระหว่างผู้ค้าและลูกค้าให้สามารถทำรายการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัย หากทุกคนนึกภาพไม่ออกก็ให้คิดถึงเว็บไซต์ E-Commerce ต่าง ๆ ที่มีการนำ Payment Gateway เข้าไปให้เราเลือกชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นผ่าน Mobile Banking, บัตรเดบิต/บัตรเครดิต ( เช่น Visa/Mastercard, UnionPay และ JCB เป็นต้น), หรือช่องทางการชำระเงินอื่น ๆ นั่นเองค่ะ โดยผู้ที่ทำธุรกิจประเภทนี้ เราจะเรียกว่า “ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์”
🔍 เกร็ดความรู้ Payment Gateway แตกต่างจาก E-Wallet หรือไม่?
Payment Gateway แตกต่างจาก E-Wallet เนื่องจากระบบการทำงานของทั้ง 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างกันค่ะ โดย E-Wallet จะเป็นการที่ลูกค้าเติมเงินเข้าไปใน E-Wallet เพื่อใช้ในการชำระสินค้าและบริการในรูปแบบออนไลน์ ซึ่ง E-Wallet จะทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลในการทำธุรกรรมและดำเนินการชำระเงิน
ส่วน Payment Gateway จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าและผู้ค้าในการทำธุรกรรม ซึ่งมีหน้าที่ส่งข้อมูลการทำธุรกรรมและอนุมัติการทำธุรกรรม ทำให้ Payment Gateway จะเป็นตัวกลางให้ร้านค้าสามารถรองรับช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
หลักการทำงานของ Payment Gateway

โดยปกติแล้ว หากเราจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ๆ ทางร้านค้าจะไม่ได้มีช่องทางการชำระเงินเป็นของตัวเอง ซึ่งทางโบรกเกอร์ Forex ก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้น เราจึงต้องมี Payment Gateway เข้ามาเชื่อมต่อการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
โดยมีหลักการทำงาน คือ ผู้ค้าจะจัดหา Payment Gateway เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้า หลังจากนั้น เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าหรือบริการก็จะทำการชำระเงินผ่านช่องทางที่ตนเองสะดวก ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกโอนไปยัง Payment Gateway ที่ใช้บริการ ดังนั้น เมื่อยืนยันการทำธุรกรรมสำเร็จแล้ว ผู้ค้าก็จะจัดส่งสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าต่อไปค่ะ
Payment Gateway สำคัญอย่างไร?
Payment Gateway สำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องรู้จักนะ? หลัก ๆ คือ เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างผู้ค้าและลูกค้าให้สามารถชำระเงินได้ง่ายขึ้นค่ะ และหากมีตัวเลือก Payment Gateway ที่หลากหลายก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่า ลูกค้าแต่ละคนสะดวกช่องทางไหนบ้าง การมีตัวเลือกที่หลากหลายจะช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้บริการให้มากขึ้นค่ะ

คุณน้าอยากให้ลองนึกภาพตามว่า หากเราต้องการซื้อสินค้าสักชิ้น โดยที่ร้านค้า A มีช่องทางการชำระเงินมากถึง 5 ช่องทาง ขณะที่ร้านค้า B มีช่องทางการชำระเงินเพียง 1 ช่องทางเท่านั้น ทุกคนจะเลือกร้านค้าไหนคะ? แน่นอนว่า หากช่องทางการชำระเงินที่ร้านค้า B รองรับนั้น บังเอิญว่าคุณน้าใช้บริการอยู่ก็ดีไป แต่หากลูกค้าคนอื่น ๆ ไม่มีช่องทางนั้น ทำให้ยากต่อการซื้อสินค้าและบริการ มันก็จะทำให้เสียฐานลูกค้าไปนั่นเองค่ะ
อีกทั้ง หากใช้บริการโบรกเกอร์ Forex หรือร้านค้าต่างประเทศ ช่องทางการชำระเงินบางประเภทอาจจะมีค่าธรรมเนียมและเรทค่าเงินที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นแล้ว การทำความรู้จัก Payment Gateway ที่หลากหลายก็จะช่วยให้ทุกคนรู้จักช่องทางใหม่ ๆ ที่เหมาะสมและเพิ่มความคุ้มค่าได้มากขึ้นค่ะ

Payment Gateway มีกี่รูปแบบ?
บางคนอาจจะรู้จัก Payment Gateway ที่เป็นธนาคารเสียส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจประเภทนี้มีผู้ให้บริการ 2 รูปแบบ ดังนี้
1. ระบบชำระเงินที่เชื่อมกับธนาคารโดยตรง (Bank Payment Gateway)
Payment Gateway ลักษณะนี้จะเป็นการให้บริการจากธนาคารโดยตรง ซึ่งช่องทางนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ใช้บริการได้มากกว่าช่องทางอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ดี Payment Gateway ของธนาคารมักจะต้องมีการค้ำประกันเงินฝาก, ทุนจดทะเบียนที่มีข้อจำกัด และค่าธรรมเนียมรายปีในการใช้บริการ ดังนั้น Payment Gateway ที่เป็นธนาคารจึงเหมาะกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนมากกว่าค่ะ
ตัวอย่าง Bank Payment Gateway
- K-Payment Gateway ของธนาคารกสิกรไทย
- Merchant iPay ของธนาคารกรุงเทพ
- Krungsri Biz Payment Gateway ของธนาคารกรุงศรี



2. ระบบชำระเงินผ่านตัวกลางที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank Payment Gateway)
Payment Gateway ลักษณะนี้จะเป็นการให้บริการจากตัวกลางอื่น (3rd Party) ที่ไม่ใช่ธนาคาร แม้จะสร้างความน่าเชื่อถือได้ไม่เท่ากับแบบแรก แต่มีจุดเด่น คือ สมัครและใช้งานง่าย, ไม่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน, ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี และรองรับสกุลเงินที่หลากหลาย ทำให้ Non-bank Payment Gateway ตอบโจทย์กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นอย่างมากค่ะ
ตัวอย่าง Non-bank Payment Gateway
- PayPal
- 2C2P
- Rabbit LINE Pay
- True Money Wallet
- Siampay
- Pay Solution
- Omise
Payment Gateway แบบ Bank และ Non-Bank ต่างกันอย่างไร?
Payment Gateway | Bank | Non-Bank |
---|---|---|
จุดเด่น | ความน่าเชื่อถือสูง | สมัครและใช้งานง่าย |
ค่าธรรมเนียมต่อรายการต่ำ | ไม่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน | |
ชำระเงินผ่านธนาคารโดยตรง | ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี | |
ข้อจำกัด | ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน | ความน่าเชื่อถือน้อยกว่าธนาคาร |
มีค่าธรรมเนียมรายปี | ค่าธรรมเนียมต่อรายการค่อนข้างสูง | |
– | ชำระเงินผ่านตัวกลางก่อนเข้าธนาคาร | |
เหมาะกับใคร | บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน | ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก |
แนะนำ 10 Payment Gateway เจ้าไหนดีที่คนไทยนิยมใช้งาน?
หลังจากที่เราทำความรู้จัก Payment Gateway กันไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ระบบการชำระเงินที่มีธนาคารเป็นผู้ให้บริการน่าจะเป็นที่รู้จักและคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี ดังนั้น ในบทความนี้คุณน้าจะมาแนะนำ Third Party Payment Gateway ในไทยที่โบรกเกอร์ Forex รวมถึงร้านค้าต่างประเทศชอบใช้บริการ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานให้ทุกคนค่ะ ซึ่ง 10 Payment Gateway ที่คนไทยนิยมใช้งานมีรายละเอียด ดังนี้
1. 2C2P

ข้อมูลทั่วไป 2C2P
2C2P ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ซึ่งเป็น Payment Gateway ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย อาจเรียกได้ว่า เป็นผู้นำระบบการชำระเงินในไทยเลยก็ว่าได้ เพราะ 2C2P มีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับการร่วมทำแคมเปญกับโลตัสในการแจกของขวัญ (Gift Card) เป็นต้น
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นหูคุ้นตามาบ้าง ซึ่ง 2C2P มีบริการหลักมากมาย อย่าง 2C2P Payment Gateway หรือบริการเสริมอื่น ๆ เช่น 123 และ easyBills เป็นต้น
⭐ จุดเด่นของ 2C2P ⭐
- เน้นให้บริการธุรกิจขนาดใหญ่
- มีการใช้รหัสผ่านในการชำระเงิน ทำให้มีความปลอดภัยสูง
- ค่าธรรมเนียมของ 2C2P อยู่ที่ 3.65%
2. PayPal

ข้อมูลทั่วไป PayPal
PayPal เป็น Payment Gateway ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ผู้ให้บริการรายนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมทั้งจากผู้ใช้งานในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากรองรับสกุลเงินที่หลากหลาย อีกทั้งยังเน้นให้บริการธุรกิจในหลาย ๆ ระดับ รวมทั้ง แพลตฟอร์ม E-Commerce ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการชำระเงินผ่าน PayPal ไม่ว่าจะเป็น Agoda, eBay, Foodpanda และ Airbnb เป็นต้น
⭐ จุดเด่นของ PayPal ⭐
- รองรับสกุลเงินต่าง ๆ มากถึง 25 สกุล
- เรทอัตราแลกเปลี่ยนส่วนมากจะดีกว่าธนาคารไทย
- รองรับการชำระเงินหลากหลาย ทั้งจากบัตรเดบิต/บัตรเครดิต และ Internet Banking
- มีเทคโนโลยีป้องกันอาชญากรทางไซเบอร์
- ค่าธรรมเนียมของ PayPal อยู่ที่ 3.9% (ในประเทศไทย) และ 4.4% (นอกประเทศไทย)
3. Omise

ข้อมูลทั่วไป Omise
Omise (โอมิเซะ) เป็น Payment Gateway สัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งในปี 2013 โดยทีมผู้พัฒนาชาวไทยและญี่ปุ่น หลังจากเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2015 ก็ขยายการเข้าถึงไปทั้งเอเชียและทั่วโลก เนื่องจากนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรที่ลดปัญหาและความยุ่งยากในการชำระเงิน ทำให้ Omise กลายเป็น Payment Gateway ที่ได้รับความนิยมมากอีกเจ้าหนึ่งค่ะ
ในปัจจุบัน Omise ให้บริการกับบริษัทชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Pomelo, True, BMW และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นต้น
⭐ จุดเด่นของ Omise ⭐
- ใช้งานง่าย ลดความซับซ้อนในการชำระเงิน
- เน้นให้บริการธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย
- ไม่รองรับธุรกิจที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีโอกาสเกิดการฉ้อโกงน้อย
- ทำธุรกรรมสะดวกและรวดเร็ว
- รองรับวิธีการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น Vis/Mastercard, JCB, TrueMoney Wallet และ PromptPay เป็นต้น
- ค่าธรรมเนียมของ Omise อยู่ที่ 3.65% โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7.0%
4. Skrill

ข้อมูลทั่วไป Skrill
Skrill ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2001 ด้วยการชำระเงินที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ Skrill ได้รับความนิยมจากเทรดเดอร์ทั่วโลก โดยเปิดให้บริการมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้ Skrill กลายเป็นระบบธนาคารออนไลน์เพื่อการลงทุนดิจิทัลที่โบรกเกอร์ Forex ส่วนมากให้การรองรับค่ะ
⭐ จุดเด่นของ Skrill ⭐
- รองรับสกุลเงินต่าง ๆ มากกว่า 40 สกุลเงิน
- รองรับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
- โบรกเกอร์ Forex ส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้งาน
- ค่าธรรมเนียมของ Skrill อยู่ที่ 2.99%
สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความเกี่ยวกับ Skrill เพิ่มเติม คุณน้าก็เคยเขียนบทความนี้ไว้แล้วนะคะ สามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย
5. Neteller

ข้อมูลทั่วไป Neteller
Neteller เป็น Payment Gateway สัญชาติแคนาดาที่ก่อตั้งในปี 1999 การถือกำเนิดของ Neteller ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการชำระเงินทั่วโลกเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นลูกค้าของ Neteller คือ เทรดเดอร์ในตลาด Forex ค่ะ
⭐ จุดเด่นของ Neteller ⭐
- รองรับสกุลเงินต่าง ๆ มากถึง 22 สกุลเงิน
- รองรับการชำระเงินทั้งจากบัตรเดบิต/บัตรเครดิต
- สามารถใช้งาน Neteller ฟรี หากทำธุรกรรมทางการเงินทุก 6 เดือน
- หากเป็นบัญชี VIP สามารถทำธุรกรรมจำนวนมากได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการถอนเงิน
- ค่าธรรมเนียมของ Neteller อยู่ที่ 4.99%
6. Perfect Money

ข้อมูลทั่วไป Perfect Money
Perfect Money เป็น Payment Gateway อีกเจ้าที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยค่ะ โดยปัจจุบัน Payment Money ให้บริการกว่า 200 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังรองรับสกุลเงินท้องถิ่นอีกมากมาย ซึ่งเป้าหมายหลักของ Perfect Money คือ โบรกเกอร์ Forex และ Crypto Exchange ค่ะ
⭐ จุดเด่นของ Perfect Money ⭐
- รองรับสกุลเงินมากกว่า 50 สกุลเงิน
- โอนเงินได้สะดวกและรวดเร็ว
- รองรับการชำระเงินบนเว็บไซต์
- ค่าธรรมเนียมของ Perfect Money อยู่ที่ 1.99% (กรณีที่บัญชีผู้ใช้บริการไม่ได้รับการยืนยันตัวตน)
7. Sticpay

ข้อมูลทั่วไป Sticpay
Sticpay เป็น Payment Gateway ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1999 โดย Sticpay ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศแบบไร้ขีดจำกัด ซึ่งให้บริการกว่า 200 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังให้บริการถอนเงินจากธนาคารท้องถิ่นถึง 7 ประเทศ รวมถึงในประเทศไทยด้วยค่ะ
นอกจากนี้ Sticpay ยังเน้นให้บริการธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์, เกมออนไลน์ และโบรกเกอร์ Forex เป็นต้น
⭐ จุดเด่นของ Sticpay ⭐
- การทำธุรกรรมมีความสะดวกและรวดเร็ว โดยใช้เวลาฝาก-ถอนเงินผ่าน Sticpay ไม่ถึง 1 นาที
- ค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่ำกว่าธนาคารระหว่างประเทศ
- รองรับสกุลเงินต่าง ๆ มากกว่า 30 สกุลเงิน
- หากใช้ Stic Card จะสามารถถอนเงินออกจากตู้ ATM ทั่วโลกได้
- มีบริการ Forex Cashback จาก Sticpay สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการโบรกเกอร์ Forex/CFD
- มีบริการ Online Gaming Cashback สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการบริษัท Gaming Online
- ค่าธรรมเนียมของ Sticpay จะอยู่ที่ 1.0% – 5.0% (ขึ้นอยู่กับแต่ละช่องทางการชำระเงิน)
8. Square

ข้อมูลทั่วไป Square
Square เป็น Payment Gateway ที่ถูกสร้างมาจากเจ้าของเดิมของ Twitter โดย Square ให้บริการการชำระเงิน ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์
นอกจากนี้ Square ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจ E-Commerce มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจรายย่อย และธุรกิจเกี่ยวกับความงาม เป็นต้น ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมจากร้านค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก
⭐ จุดเด่นของ Square ⭐
- เน้นให้บริการธุรกิจขนาดเล็กหลายระดับ
- พัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และระบบ POS ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถขายสินค้าได้ทุกที่
- ป้องกันระบบการชำระเงินด้วยระบบความปลอดภัยขั้นสูง
- รองรับการชำระเงินด้วย Contactless Card* และ Digital Wallet เพียงคุณแตะการชำระเงินผ่าน Iphone หรือ Andriod
- เมื่อร้านค้าส่งใบชำระการขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3.3% + 30 Cent
- ค่าธรรมเนียมของ Square อยู่ที่ 2.6% + 10 Cent สำหรับรายบุคคล
- ค่าธรรมเนียมของ Square อยู่ที่ 2.9%-3.3% + 10 Cent สำหรับร้านค้าออนไลน์
📢 Tip Contactless Card คืออะไร?
Contactless Card คือ ชิปที่ฝังอยู่บนบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตค่ะ เมื่อคุณมีการชำระสินค้าและบริการก็แค่แตะบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตกับเครื่องชำระเงิน เพียงเท่านี้ก็จะสามารถชำระสินค้าและบริการได้แล้วค่ะ ซึ่งจะเห็นว่าช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก
9. Adyen

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ Adyen
Adyen (แอดเยน) เป็น Payment Gateway สัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดย Adyen ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, eBay, Facebook, Uber, Spotify, Booking.com และ H&M ในปัจจุบัน Adyen ให้บริการการชำระเงินออนไลน์มากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
⭐ จุดเด่นของ Adyen ⭐
- รองรับสกุลเงินมากกว่า 150 สกุลเงิน
- ไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน
- การทำธุรกรรมมีความสะดวกและรวดเร็ว
- ค่าธรรมเนียมของ Adyen อยู่ที่ €0.11 + ช่องทางการชำระเงินที่เลือกใช้บริการ ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกัน เช่น บัตร American Express จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ €0.11+ 3.95% เป็นต้น
10. Stripe

ข้อมูลทั่วไปของ Stripe
Stripe เป็น Payment Gateway สัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะในธุรกิจ E-Commerce และ SaaS ซึ่ง Strip ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ในปัจจุบัน Stripe ให้บริการกว่า 47 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยค่ะ
อีกทั้งยังเป็นระบบชำระเงินให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Shopify, Google, BMW และ Zara เป็นต้น นอกจากนี้ Stripe ยังเป็นระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่โบรกเกอร์ Forex หลาย ๆ โบรกเลือกใช้บริการอีกด้วยค่ะ
⭐ จุดเด่นของ Stripe ⭐
- รองรับสกุลเงินมากกว่า 135 สกุลเงิน
- มีระบบความปลอดภัยสูง เนื่องจากได้รับมาตรฐาน PCI DSS Level 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสำหรับการจัดการข้อมูลในบัตรเครดิต
- มีฟีเจอร์ที่ให้บริการกว่า 100 รายการ เช่น Stripe Payment, Billing, Radar และ Data Pipeline เป็นต้น
- ค่าธรรมเนียมของ Stripe ผ่านบัตร Visa/Mastercard, Apple Pay และ Google Pay อยู่ที่ 3.65% + ฿10
- ค่าธรรมเนียมของ Stripe ผ่าน PromptPay อยู่ที่ 1.65% + ฿10
ข้อดีและข้อเสียของ Payment Gateway
ข้อดี
- สะดวก, รวดเร็ว และมีความปลอดภัย
- การทำรายการสามารถตรวจสอบได้
- สามารถทำรายการซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- เป็นช่องทางที่มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง
- ช่องทางที่หลากหลายจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้
- ใช้ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก, กลาง และใหญ่
- สามารถซื้อขายสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
ข้อเสีย
- มีค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ
- หากร้านค้าต้องการใช้บริการ จะต้องมีเงินฝากค้ำประกันสำหรับ Bank Payment Gateway
📢 สำหรับใครที่สนใจโบรกเกอร์ถอนเงินเร็ว ฝากเงินไว คุณน้าได้แนะนำ 5 โบรกเกอร์ที่มีคุณสมบัติเด่นในด้านนี้ไว้แล้ว สามารถอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Payment Gateway
Payment Gateway ในไทยมีอะไรบ้าง?
Payment Gateway ในไทยมีหลายธนาคารที่ให้การรองรับ ยกตัวอย่างเช่น K-Payment Gateway, Merchant iPay และ Krungsri Biz Payment Gateway เป็นต้น
Payment Gateway เจ้าไหนดี ประจำปี 2024
- 2C2P
- PayPal
- Omise
- Skrill
- Neteller
- Perfect Money
- Sticpay
- Square
- Adyen
- Stripe
Payment Gateway แบบ Non-Bank มีอะไรบ้าง?
Payment Gateway แบบ Non-Bank จะเป็นการให้บริการจากตัวกลางอื่น (3rd Party) ที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันมีหลายผู้ให้บริการค่ะ ไม่ว่าจะเป็น PayPal, 2C2P และ Rabbit Line Pay เป็นต้น
สรุป Payment Gateway เจ้าไหนดี
หลังจากอ่านจบแล้ว ทุกคนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของ Payment Gateway กันหรือยังคะ? คุณน้าว่า มันมีประโยชน์มาก ๆ เลยค่ะ เพราะมันเข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อร้านค้ากับลูกค้าให้สามารถชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อ แถม Payment Gateway ยังมีความน่าเชื่อถือสูงมาก เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อีกด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ธุรกิจต่าง ๆ เลือกใช้งาน Payment Gateway เป็นระบบในการชำระเงินค่ะ แล้วทุกคนคิดว่า 10 Payment Gateway ที่คุณน้าได้แนะนำในบทความนี้ Payment Gateway เจ้าไหนดีที่จะตอบโจทย์การใช้งานของคุณบ้างคะ
และในบทความหน้า คุณน้าจะพาทุกคนไปรู้จักกับการเงินและการลงทุนเรื่องใด โปรดติดตามกันให้ดีนะคะ
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge