ในปัจจุบัน หุ้น IPO กลายเป็นหุ้นที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมากค่ะ เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีหลายบริษัทเข้ามาจดทะเบียนบนตลาดหลักทรัพย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการระดมทุนของบริษัทในการขยายกิจการ และเป็นการขยายชื่อเสียงที่ดีของบริษัทอีกด้วยค่ะ ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยมีบริษัทที่จดทะเบียนสินทรัพย์มากถึง 700 บริษัทค่ะ
เมื่อหุ้น IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ขาดสาย ตัวคุณน้าเองก็เห็นว่า เป็นผลดีแก่นักลงทุนในการจับจองซื้อหุ้น IPO ที่เห็นว่า จะมีโอกาสเติบโตในอนาคตค่ะ วันนี้คุณน้าจะพามาทำความรู้จักกับหุ้น IPO คืออะไร? พร้อมกับส่องหุ้น IPO ที่น่าสนใจ ปี 2566 ว่ามีอะไรกันบ้าง มาดูกันได้เลยค่ะ
หุ้น IPO คืออะไร?
หุ้น IPO หรือ Initial Public Offering คือ การที่บริษัทเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุน หรือประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ นั่นเองค่ะ โดยบริษัทจะมองหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำเงินทุนเหล่านี้มาขยายกิจการให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งหุ้น IPO จะทำให้บริษัทเปลี่ยนสถานะจาก “บริษัทเอกชน” กลายมาเป็น “บริษัทมหาชน” นั่นเองค่ะ
การประกาศขายหุ้น IPO นี้ มักได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อหุ้นเข้าสู่ตลาดแล้วนั้น ราคามักจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือเรียกง่าย ๆ ว่าสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้จำนวนหุ้น IPO ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงวันแรก ๆ หมดเร็วเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนรีบเข้ามาจับจองซื้อหุ้น IPO จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อค่ะ
อย่างไรก็ดี การจะเป็นผู้ถือหุ้น IPO ได้นั้น คุณต้องเป็นผู้ซื้อในตลาดแรก (Primary Market) เพราะจะมีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำและมีนโยบายการจองซื้อที่แตกต่างกันตามแต่ละบริษัทค่ะ โดยขั้นตอนการเสนอขายของบริษัทจะต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ (Underwriter) ที่จัดจำหน่ายก่อนเท่านั้นค่ะ เนื่องจากก่อนการเสนอขายแก่นักลงทุนในแต่ละครั้ง บริษัทต้องผ่านกฎระเบียบเงื่อนไขของก.ล.ต. ก่อนเสมอ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการเสนอขายหุ้น IPO ค่ะ
นอกจากนี้ คุณสามารถซื้อขายหุ้น IPO ในตลาดรอง (Secondary Market) ได้เช่นกัน แต่จะเป็นการซื้อขายที่เปลี่ยนมือกันเฉย ๆ ค่ะ เพราะอาจจะเป็นการซื้อจากคนที่ไปซื้อหุ้น IPO มาโดยตรงหรือได้รับจากที่ซื้อต่อ ๆ กันมาค่ะ
ต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะซื้อหุ้น IPO?
เมื่อรู้กันแล้วว่า หุ้น IPO คืออะไร? แต่หลาย ๆ คนคงอยากทราบใช่ไหมคะว่า ต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะซื้อหุ้น IPO ได้ คุณน้าขอบอกเลยนะคะว่า แต่ละบริษัทจะมีวิธีการเสนอขายหุ้นที่แตกต่างกันค่ะ โดยคุณน้าขอยกตัวอย่างเช่น หุ้น OR หรือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจะใช้วิธีการกระจายหุ้น หรือที่เรียกว่า Small Lot First ค่ะ ซึ่งจะกำหนดขั้นต่ำของการจองซื้อไว้ที่ 300 หุ้น ในราคา 18 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อได้ผ่านว็บไซต์และแอปพลิเคชันของธนาคารที่บริษัทกำหนดไว้ ทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงการจองซื้อหุ้นได้ก่อนค่ะ
ในขณะที่หุ้น IPO ของหุ้น OR อย่างเช่น บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จะใช้วิธีการกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ ทำให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปไม่ได้สิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นค่ะ
ดังนั้น การจองซื้อของหุ้น IPO มักจะใช้เงินไม่เท่ากันค่ะ เพราะจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละบริษัทกำหนดว่า จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนประเภทใด หรือใช้วิธีการกระจายหุ้นอย่างไร ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เลยค่ะ
หุ้น IPO ใครได้ประโยชน์?
1. นักลงทุน
การจองซื้อหุ้น IPO ถือเป็นการลงทุนที่เปิดโอกาสที่ดีให้แก่นักลงทุนทั่วไป เนื่องจากนักลงทุนสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทที่จะเติบโตในอนาคตได้ หากบริษัทที่เราเลือกนั้นมีศักยภาพในการขยายกิจการมากพอ ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ
2. บริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO
การเสนอขายหุ้น IPO ถือเป็นการเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่ว ๆ ไป ซึ่งบริษัทจะนำเงินทุนส่วนที่ได้มาพัฒนาและขยายกิจการในบริษัทต่อไป โดยการขายหุ้นประเภทนี้จะเป็นเงินทุนที่ไม่ได้มาจากการกู้ยืมธนาคารนั่นเองค่ะ
วิธีการเลือกหุ้น IPO ทำได้อย่างไร
วิธีการเลือกหุ้น IPO สามารถทำได้ 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์ของบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO
ผู้ซื้อหุ้น IPO ควรศึกษาวัตถุประสงค์ของบริษัทที่เสนอขายหุ้นว่า จะนำเงินทุนไปใช้เพื่ออะไร โดยรายละเอียดส่วนนี้จะสามารถดูได้จากหนังสือเชิญชวนของบริษัทในหัวข้อ “วัตถุประสงค์การใช้เงิน” เพื่อที่เราจะได้สามารถติดตามผลการใช้เงินของบริษัทในอนาคตได้ทุกครั้ง ซึ่งในทุก ๆ 6 เดือน บริษัทจะต้องรายงานผลการใช้เงินทุนกับตลาดหลักทรัพย์
2. โมเดลธุรกิจ ผลประกอบการ และแนวโน้มการเติบโตของบริษัท
ผู้ซื้อหุ้น IPO ควรศึกษาโมเดลธุรกิจของบริษัทว่า มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคตหรือไม่ อีกทั้งยังจำเป็นต้องศึกษาผลประกอบการย้อนหลัง 3-5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่า ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์บริษัทมีรายได้ มีกำไรสุทธิ มีสินทรัพย์ และมีหนี้สิ้นอยู่ที่เท่าไหร่ค่ะ จากนั้นค่อยวิเคราะห์ว่า บริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO จะมีแนวโน้มเติบโตในอนาคตคุ้มค่ากับที่เราเลือกลงทุนหรือไม่ค่ะ
3. ความเหมาะสมของราคาที่เสนอขาย
ผู้ซื้อหุ้น IPO ควรคำนวณราคาที่เสนอขายว่า เหมาะสมสำหรับนักลงทุนหรือไม่ โดยสามารถคำนวณได้หลายวิธี เช่น วิธี Price/Earning (P/E) หรือวิธีการเทียบอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ เป็นต้น โดยสามารถดูรายละเอียดการกำหนดราคาได้ในหัวข้อ “ที่มาของการกำหนดราคาหลักทรัพย์ที่ขาย” ได้ค่ะ
4. ช่องทางการจองซื้อหุ้น IPO
ผู้ซื้อหุ้น IPO ควรศึกษาช่องทางการจองซื้อหุ้น IPO ที่ตนเองสนใจว่า มีช่องทางจองซื้อหุ้น IPO ช่องทางใดบ้างและสามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารหรือโบรกเกอร์ที่จัดจำหน่าย ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับแต่ละเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดขึ้นค่ะ
5. รายละเอียดวันจองซื้อหุ้น IPO
หากเลือกหุ้น IPO ที่สนใจได้แล้ว ขั้นตอนสุดท้าย คือ การดูรายละเอียดวันจองซื้อหุ้น IPO ว่า สามารถจองซื้อได้ในวันไหนและจ่ายเงินได้ถึงวันที่เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นค่ะ
หุ้น IPO ที่น่าสนใจ ปี 2566
1. บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) : PHG
ลักษณะธุรกิจ : ให้บริการด้านการแพทย์ภายใต้โรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 และโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต
มูลค่าระดมทุน : 1,134 (ล้านบาท)
มูลค่าเสนอขาย : 1,134 (ล้านบาท)
ราคาเสนอขาย : 21 บาท
วันที่เปิดขายครั้งแรก : 6 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ : patrangsit.com
2. บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) : MGC
ลักษณะธุรกิจ : ประกอบธุรกิจครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยประกอบไปด้วย 1. กลุ่มธุรกิจจำหน่ายยานยนต์ 2. กลุ่มธุรกิจให้บริการหลังการขายและให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ 3. กลุ่มธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์และคนขับ และ 4. กลุ่มธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) บริหารจัดการ (Shared Service) และบริการทำความสะอาด
มูลค่าระดมทุน : 2,2126 (ล้านบาท)
มูลค่าเสนอขาย : 2,2126 (ล้านบาท)
ราคาเสนอขาย : 7.95 บาท
วันที่เปิดขายครั้งแรก : 26 เมษายน 2566
เว็บไซต์: mgc-asia.com
3. บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) : GABLE
ลักษณะธุรกิจ : ให้บริการโซลูชั่นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และให้บริการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์แพลต์ฟอร์ม
มูลค่าระดมทุน : 1,118.25 (ล้านบาท)
มูลค่าเสนอขาย : 1,118.25 (ล้านบาท)
ราคาเสนอขาย : 6.39 บาท
วันที่เปิดซื้อขายครั้งแรก : 9 พฤษภาคม 2566
เว็บไซต์ : www.g-able.com
4. บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) : BLC
ลักษณะธุรกิจ : ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องสำอางค์ เป็นต้น
มูลค่าระดมทุน : 1,260 (ล้านบาท)
มูลค่าเสนอขาย : 1,260 (ล้านบาท)
ราคาเสนอขาย : 10.50 บาท
วันที่เปิดซื้อขายครั้งแรก : 21 มิถุนายน 2566
เว็บไซต์ : http://www.blcplc.com
5. บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) : PRTR
ลักษณะธุรกิจ : ให้บริการจัดหาบุคลากรและทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจรและให้บริการสรรหาบุคลากร
มูลค่าระดมทุน : 1,080 (ล้านบาท)
มูลค่าเสนอขาย : 1,080 (ล้านบาท)
ราคาเสนอขาย : 7.20 บาท
วันที่เปิดซื้อขายครั้งแรก : 26 เมษายน 2566
เว็บไซต์ : https://www.prtr.com
ข้อดี-ข้อเสียหุ้น IPO
ข้อดี-ข้อเสียของหุ้น IPO สามารถเปรียบเทียบได้ ดังต่อไปนี้
ข้อดี
- มีทางเลือกและช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น
- เป็นการระดมทุนที่ไม่มีดอกเบี้ย
- ภาพลักษณ์ของบริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
- การบริหารมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
- มีโอกาสได้รู้จักบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น
ข้อเสีย
- มีกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น
- มีความเสี่ยงสูงขึ้น
- มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
- สูญเสียส่วนแบ่งในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการ
- มีความผันผวนของราคาที่เพิ่มมากขึ้น
สรุปหุ้น IPO
จากที่คุณน้าได้สรุปเกี่ยวกับหุ้น IPO ไปข้างต้น เห็นได้ว่า หุ้น IPO ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนค่ะ เพราะหุ้น IPO เป็นหุ้นที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับกิจการ เนื่องจากก่อนการเปิดจองซื้อหุ้น IPO ทุกครั้งนั้น จะมีการเขียนหนังสือชี้ชวนถึงจุดประสงค์ของการเสนอขายหุ้นและเราสามารถติดตามได้หุ้นที่เราซื้อได้ในทุก 6 เดือน แสดงให้เห็นถึงทิศทางของหุ้นและความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนทุกครั้ง ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดของหุ้นที่เราสนใจให้ดี เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอค่ะ โดยเราควรเลือกหุ้น IPO ที่มีความน่าเชื่อถือ และคำนวณถึงความเหมาะสมของราคาที่เสนอขาย รวมทั้งโอกาสในการเติบโตของหุ้นที่เราเลือกด้วยเช่นกัน จากความห่วงใยของทีมงานคุณพาเทรดค่ะ
สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge