เครดิตบูโร คืออะไร? ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่!

เครดิตบูโร (Credit Bureau) คืออะไร? ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่
Table of Contents

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเวลาที่เราขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นเพราะการติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรหรือเปล่า? เนื่องจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้กับข่าว COWAY ติดเครดิตบูโร ถือเป็นประเด็นที่ร้อนระอุบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมากค่ะ

ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเครดิตบูโร (Credit Bureau) คืออะไรกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!


บทความเกี่ยวกับวางแผนการลงทุนเพิ่มเติม : 


เครดิตบูโร คืออะไร?

เครดิตบูโร คืออะไร

เครดิตบูโร (Credit Bureau) คือ ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่คุณทำการขอสินเชื่อไว้ค่ะ ซึ่งข้อมูลนี้จะเก็บรวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อรถยนต์,ประวัติการผ่อนชำระทรัพย์สินอื่น หรือแม้แต่ข้อมูลบัตรเครดิตทั้งหมดของคุณ เครดิตบูโรก็สามารถเช็กได้หมดค่ะ


ข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

  • ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานภาพ, อาชีพ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
  • ข้อมูลที่อยู่
  • ข้อมูลการสมัครขอสินเชื่อต่าง ๆ 
  • ประวัติการชำระหนี้
  • ข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ 
  • ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

ทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร? 

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร? แล้วถ้าไม่เช็กล่ะจะขอสินเชื่อผ่านหรือไม่? คุณน้าขอบอกว่า การเช็กเครดิตบูโรจะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่า ในปัจจุบันคุณมีภาระหนี้สินอยู่เท่าไหร่และคุณมีประวัติหนี้เสียหรือไม่ 

ซึ่งข้อมูลในเครดิตบูโรถือได้ว่า มีความสำคัญกับการทำธุรกรรมของคุณเป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะกับการขอสินเชื่อ, การทำบัตรเครดิตหรือการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินอื่น ๆ เพราะเครดิตบูโรจะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในการสร้างและชำระหนี้ของคุณ รวมทั้งเป็นการตรวจสอบเครดิตขอคุณว่า ดีพอในการขอสินเชื่อครั้งต่อ ๆ ไปหรือไม่นั่นเองค่ะ

ซึ่งคุณน้าได้รวบรวม 3 เหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรเช็กเครดิตบูโร ดังนี้ค่ะ

1. เพื่อวางแผนก่อนสร้างหนี้ใหม่ 

สำหรับปัญหาหลัก ๆ ของการสร้างหนี้สิน คือ หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าตอนนี้จ่ายหนี้ครบหรือยัง ทำให้เมื่อต้องการกู้ยืมเพิ่มเติมกลายเป็นว่า หนี้เก่ายังโปะไม่หมด หนี้ใหม่ตามมาอีกแล้ว ดังนั้น การเช็กเครดิตบูโรก่อนการสร้างหนี้ใหม่จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่เสี่ยงเป็นหนี้จนเกินตัวนั่นเอง

2. เพื่อตรวจสอบโอกาสในการขอสินเชื่อผ่านหรือไม่

การเช็กเครดิตบูโรไม่เพียงแค่ตรวจสอบประวัติสินเชื่อของคุณเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบเครดิตสกอริ่งได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งจะตรวจสอบได้ว่าคุณมีโอกาสในการผ่านการขอสินเชื่อครั้งต่อไปหรือไม่?

⭐ Tip เครดิตสกอริ่งคืออะไร? 

เครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) คือ คะแนนเครดิตที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือทางการเงินของบุคคล ซึ่งสถาบันทางการเงินจะใช้เครดิตประกอบกับการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในประเทศไทยได้แบ่งเครดิตสกอริ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้

  • คะแนน 753-900 : ระดับความเสี่ยง AA
  • คะแนน 725-752 : ระดับความเสี่ยง BB
  • คะแนน 699-724 : ระดับความเสี่ยง CC
  • คะแนน 681-698 : ระดับความเสี่ยง DD
  • คะแนน 666-680 : ระดับความเสี่ยง EE
  • คะแนน 646-665 : ระดับความเสี่ยง FF
  • คะแนน 616-645 : ระดับความเสี่ยง GG
  • คะแนน 300-615 : ระดับความเสี่ยง HH

3. เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการชำระสินเชื่อ 

การตรวจสอบความถูกต้องของการชำระสินเชื่อจะช่วยให้คุณสามารถเช็กได้ว่า ข้อมูลที่ทางสถาบันทางการเงินได้ส่งข้อมูลเข้าไปยังเครดิตบูโรถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ เพราะมีหลายครั้งที่เกิดกรณีที่ว่า เจ้าหน้าที่ทางการเงินกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ลูกค้ามีคะแนนเครดิตบูโรต่ำลง ซึ่งเสี่ยงต่อการขอสินเชื่อในอนาคตได้ค่ะ

ตัวอย่างเหตุการณ์ COWAY ติดเครดิตบูโร ปี 2024

ตัวอย่างเหตุการณ์ COWAY ติดเครดิตบูโร ปี 2024

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมานี้ กับกรณีที่ลูกค้าบริษัทเครื่องกรองน้ำและเครื่องฟอกอากาศ COWAY ประสบปัญหาการติดเครดิตบูโรโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทำงานที่ผิดพลาดของทางบริษัท เนื่องจาก COWAY ได้ส่งชื่อลูกค้าที่ผิดยอดนัดชำระเข้าระบบเครดิตบูโร โดยไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า ทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวติดสถานะเครดิตบูโรล่าช้า ประกอบกับลูกค้าบางรายที่ไม่ได้ผิดยอดค้างชำระมีคะแนนเครดิตบูโรลดลง เนื่องจากระบบของบริษัท COWAY เกิดข้อผิดพลาด 

และการที่ระบบเกิดข้อผิดพลาด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเก็บค่าบริการของลูกค้า โดยลูกค้าที่ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้เอง ได้ออกมาร้องเรียนบนโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดเป็นข้อถกเถียงจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัท COWAY ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงและแก้ไขปัญหาด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทำให้ทางเครดิตบูโรได้ลบข้อมูลลูกค้าทั้งหมดของ COWAY ออกจากระบบ ซึ่งลูกค้าที่เคยขึ้นสถานะติดเครดิตบูโรทั้งหมดเลยไม่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท COWAY ได้ส่งข้อมูลไปก่อนหน้านั้น

📢 คำแนะนำจากคุณน้า

จากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเช็กสถานะเครดิตบูโรถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังเหตุการณ์ของบริษัท COWAY คุณควรเช็กเครดิตบูโรในทุก ๆ 1 ปีค่ะ โดยคุณน้าขอแนะนำวิธีการอ่านสถานะของเครดิตบูโร ดังนี้

วิธีการอ่านสถานะของเครดิตบูโร

ตัวเลขความหมายของสถานะ
10ปกติ 
(ไม่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน)
11สถานะปิดบัญชี
(ชำระหนี้ครบตามสัญญา)
12พักชำระหนี้ตามนโยบายของสมาชิก
20หนี้ค้างชำระนานเกินกว่า 90 วัน
21หนี้ค้างชำระนานเกินกว่า 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่ปกติ
30อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย
31อยู่ระหว่างชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
32ศาลยกฟ้องเนื่องจากคดีขาดความหรือเหตุอื่นเว้นแต่หนี้สินไม่ได้มีอยู่จริง
33ปิดบัญชี เนื่องจากการตัดหนี้สูญ 
(กรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด และสมาชิกตัดหนี้สูญ โดยไม่ตัดสินใจทวงถามอีกต่อไป)
40อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี 
41อยู่ระหว่างตรวจสอบรายการ
42โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน 
(กรณีสมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระให้แก่บุคคลอื่น)
43โอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว
(กรณีสมาชิกโอนหรือขายหนี้ไปยังบุคคลอื่น และได้มีการชำระหนี้สิ้นให้แก่ผู้รับดอนเรียบร้อยแล้ว)
44โอนหรือขายหนี้ที่มีสถานะบัญชีปกติ
(กรณีที่สมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ไม่ค้างชำระไปยังบุคคลอื่น)

ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่?

หลาย ๆ คนชอบพูดกันว่า การติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ทำให้กู้สินเชื่อไม่ผ่าน ในกรณีนี้คุณน้าขอบอกว่า ไม่จริงค่ะ จากการอ้างอิงของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรไม่ได้จัดทำเพื่อขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์กับใคร ซึ่งในระบบไม่ได้มีข้อมูลของการขึ้นแบล็กลิสต์แต่อย่างใดค่ะ

โดยปกติแล้ว เครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลตามความเป็นจริง หากคุณชำระหนี้สินแล้ว ทางระบบจะขึ้น “ปกติ” หรือ “ไม่ค้างชำระ” แต่หากยังไม่จ่ายหนี้สิน ทางระบบจะขึ้น ”ค้างชำระ” ไม่ว่าคุณจะชำระตรงตามกำหนดหรือไม่ รวมทั้งหากเคลียร์บัญชีหรือปิดบัญชีเรียบร้อยแล้วนั้น ทางระบบก็จะขึ้นตามนั้น เพียงแต่ยังไม่มีการลบข้อมูลใด ๆ ออก เนื่องจากมีการบังคับใช้ตามกฎหมายว่า ระบบจะทำการลบข้อมูลให้ในระยะเวลา 3 ปี หรือ 36 เดือน นับจากวันที่ได้รับรายงานจากสมาชิก 

ดังนั้น เครดิตบูโรไม่ได้เป็นตัวตัดสินการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อทั้งหมดค่ะ เพราะก่อนที่จะมีการขอสินเชื่อใด ๆ สถาบันการเงินจะมีเกณฑ์การพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รายได้, ความสามารถในการชำระหนี้คืน, อายุ, อาชีพ และหลักประกัน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินค่ะ


3 วิธีแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโรทำได้ยังไง?

3 วิธีแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโรทำได้ยังไง

คุณน้าจะขอแนะนำ 3 วิธีการแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโร เพื่อให้คุณสามารถทำตามได้ด้วยตนเองง่าย ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้อง

ขั้นตอนแรก คือ ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้องค่ะ หากข้อมูลเครดิตของคุณไม่ถูกต้องหรือเกิดข้อผิดพลาดบางอย่างให้คุณแจ้งไปที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อยื่นสิทธิขอตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลของตนเองกับเครดิตบูโรได้

และเมื่อได้รับการแจ้งผลตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว คุณยังไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบสามารถยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองเครดิตได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งสิทธิค่ะ

2. วางแผนชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน

หลังจากที่คุณตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้องแล้วนั้น ขั้นตอนต่อมา คือ คุณควรชำระหนี้สินเก่าให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้ติดเครดิตบูโรค่ะ โดยคุณน้าขอแนะนำวิธีการชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน ดังนี้

  • ชำระหนี้สินจำนวนน้อยก่อน โดยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเจรจาต่อรอง สำหรับการผ่อนชำระหรือลดหย่อนหนี้
  • กรณีมีหนี้สินหลายก้อน ให้คุณลองพิจารณาการรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้สินเป็นก้อนเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • จัดทำแผนการชำระหนี้ โดยกำหนดเป้าหมายการชำระหนี้สินในแต่ละก้อน
  • หมั่นติดตามและควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดโอกาสในการสร้างหนี้สินใหม่

3. สร้างวินัยทางการเงิน

และขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการแก้ไขปัญหาเครดิตบูโร คือ การสร้างวินัยทางการเงินค่ะ เพื่อไม่ให้สร้างเครดิตที่ไม่ดี คุณควรชำระค่างวดให้ตรงทุกงวดและพยายามรักษาจำนวนหนี้คงค้างให้ต่ำที่สุด โดยปกติแล้ว ข้อมูลเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลไม่เกิน 3 ปีค่ะ ดังนั้น คุณควรชำระหนี้เก่าครบถ้วนก่อน จากนั้นข้อมูลติดเครดิตบูโรของคุณจะหายไปหลังจากนั้น 1 เดือน และสิ่งสำคัญก็คือ คุณควรหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุดและควรชำระหนี้สินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีนั่นเองค่ะ

ตรวจสอบเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง?

ในปัจจุบันคุณสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ เลยค่ะ โดยสามารถเลือกใช้บริการได้ ดังนี้

1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร

ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรมีทั้งหมด 4 สาขา ดังนี้

  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา)
  • เครดิตบูโรคาเฟ่ – อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS อารีย์ ทางออก 1)
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) 
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1 

คุณสามารถเข้าไปตรวจเครดิตบูโรได้โดยหลักฐานที่ต้องเตรียมนั่นก็คือ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดงค่ะ 

2. ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking โดยธนาคารจะส่งรายงานเครดิตบูโรให้ผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านไปรษณีย์ ซึ่ง Mobile banking ที่ให้บริการ มีดังนี้ 

  • Bualuang mBanking
  • MyMo
  • Krungthai NEXT
  • ttb touch
  • KKP Mobile

3. ตรวจเครดิตบูโรผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยได้ทุกสาขา โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ซึ่งอัตราค่าบริการผ่านที่ทำการไปรษณีย์จะอยู่ที่ 150 บาทค่ะ

4. ตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร

คุณสามารถตรวจบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารที่เข้าร่วม ณ สาขาใกล้บ้านได้เลยค่ะ โดยมี 4 ธนาคาร ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

5. ตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM ได้ทั่วประเทศ โดยมีตู้ ATM ที่ให้บริการ ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์

6.ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Internet Banking

คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่าน Internet Banking ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เลยค่ะ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเครดิตบูโร (Credit Bureau)

ข้อมูลเครดิตบูโร มีอะไรบ้าง?

  • ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานภาพ, อาชีพ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
  • ข้อมูลที่อยู่
  • ข้อมูลการสมัครขอสินเชื่อต่าง ๆ 
  • ประวัติการชำระหนี้
  • ข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ 
  • ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

เครดิตบูโร มีอายุกี่ปี?

การจัดเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี หรือ 36 เดือน

สถานะเครดิตบูโร 40 คืออะไร?

สถานะเครดิตบูโร 40 คือ อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี 

สถานะเครดิตบูโร 42 คืออะไร?

สถานะเครดิตบูโร 42 คือ โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน

ทำยังไงให้คะแนนเครดิตบูโรขึ้น?

คุณน้าขอแนะนำว่า คุณควรหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุดและควรชำระหนี้สินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีนั่นเองค่ะ


สรุป

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในเครดิตบูโรถือว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกรรมของคุณเป็นอย่างมากค่ะ เพราะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่สถาบันทางการเงินจะขอดู เมื่อคุณต้องการขอสินเชื่อใด ๆ อย่างไรก็ตาม เครดิตบูโรไม่ได้เป็นข้อมูลที่ทำให้คุณติดแบล็กลิสต์ค่ะ เพราะการติดแบล็กลิสต์นั้น หมายความว่า คุณมีประวัติในการชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือมีหนี้เสียมากจนสถาบันทางการเงินเห็นว่า คุณไม่มีความสามารถในการชำระหนี้นั่นเองค่ะ 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถทำธุรกรรมได้สำเร็จ คุณควรวางแผนทางการเงินให้ละเอียดและรอบคอบ เพื่อสร้างเครดิตที่ดีในอนาคตค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : NCB, ธนาคารแห่งประเทศไทย, Marketeer และ Krungsri Credit Cards


สำหรับใครที่สนใจอ่านรีวิวโบรกเกอร์ : Review Brokers

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 16 ธันวาคม 2567
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 By คุณน้าพาเทรด

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่งมีข่าวสำคัญจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงไปที่บริเวณ 2,645-2,647 ดอลลาร์ และเกิด QM ค่ะ

แนะนำ 10 หุ้นน่าลงทุน ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส
แนะนำ 10 หุ้นน่าลงทุน ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส

คุณน้าจะขอแนะนำ 10 หุ้นน่าลงทุนต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ไปกับตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะเริ่มต้นปี 2025 กันค่ะ

วิเคราะห์ทองคำวันที่ 11 ธันวาคม 2567
วิเคราะห์ทองคำวันที่ 11 ธันวาคม 2567 By คุณน้าพาเทรด

สวัสดีสายเทรดทองทุกท่านนะคะ วันนี้มาติดตามวิเคราะห์ทองคำประจำวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567 กันค่า วิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ เมื่อวานนี้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 33 ดอลลาร์