เศรษฐกิจ คือ การที่หลายหน่วยย่อยตลาดมารวมกัน มีทั้งการผลิต การจับจ่ายใช้สอย และการบริโภคของคนในชุมชน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีหลายภาวะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราเงินฝืดที่เกิดขึ้น โดยในบทความนี้คุณน้าจะพูดถึงภาวะเศรษฐกิจแบบ Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นภาวะที่เราต่างหวาดกลัว และต้องระวัง รวมถึงคุณน้ายังมาบอกวิธีรับมือภาวะ Stagflation ดังนี้ค่ะ
Stagflation คืออะไร ?
Stagflation คือ ช่วงที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยมาก แต่เงินเฟ้อนั้นยังคงพุ่งขึ้นสูง, อัตรา GDP ต่ำลง รวมถึงมีอัตราการว่างงานสูง ซึ่งสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจนั่นเองค่ะ
โดยคำว่า “Stagflation” นั้น เป็นการผสมกันระหว่างคำว่า Stagnation ที่แปลว่า ความซบเซา, ความเฉื่อยชา กับคำว่า Inflation หรือเงินเฟ้อนั่นเองค่ะ (อ้างอิงข้อมูลจาก Investopedia)
สาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะ Stagflation คืออะไร
- เศรษฐกิจเติบโตช้า ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การระบาดของโรค หรือแม้กระทั่งการคว่ำบาตร ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้เช่นกันค่ะ
- อุตสาหกรรมต่าง ๆ ซบเซา มีการจ้างงานน้อยจนทำให้เกิดการว่างงานที่สูงขึ้น
- เกิดขึ้นจากอุปทานที่มักถูกจำกัด จนทำให้มีการใช้เงินมากขึ้น
ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิด Stagflation คืออะไร
1. ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
สภาวะเศรษฐกิจแบบชะลอตัวมักจะเกิดจากการขาดแคลน หรือมีอุปทานจำกัด ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น (ค่าขนส่งแพงกว่าปกติ) ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และ GDP ลดลง
2. สหภาพแรงงานที่มีอำนาจ
หากสหภาพแรงงานมีอำนาจต่อรอง พวกเขาอาจจะสามารถต่อรองค่าแรงที่สูงขึ้นได้ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำลง ดังนั้น ค่าจ้างที่สูงขึ้นจึงเป็นสาเหตุสำคัญของอัตราเงินเฟ้อด้วย
3. ผลผลิตลดลง
หากเศรษฐกิจประสบกับประสิทธิภาพในการผลิตลดลง นั่นแปลว่า ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตมากขึ้น และได้ผลลัพธ์เท่าเดิม หรือลดลง
4. การว่างงานเพิ่มขึ้น
หากอุตสาหกรรมดั้งเดิมลดลง เราอาจมีตัวเลขการว่างงานมากขึ้น และมีผลผลิตลดลง ดังนั้น เราจึงมีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นด้วยก็ตาม
ตัวอย่างเหตุการณ์ Stagflation ในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ในสหรัฐฯ ก็เคยประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันทำการคว่ำบาตรชาติต่าง ๆ ที่ให้การช่วยเหลืออิสราเอล จนทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันโลกนั่นเองค่ะ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ ก็กำลังประสบปัญหาเดียวกันกับเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วอยู่ค่ะ แต่ปัจจุบันยังไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 1970s หรือช่วงปี พ.ศ. 2513 เพราะว่าในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจเกิดภาวะหดตัว อันมีสาเหตุเนื่องมาจากเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐฯ มีระดับสูงถึง 12 – 14% ส่วนทางฝั่งอัตราว่างงาน สูงถึง 8 – 10% เลยทีเดียว แถมยังอยู่ในสภาวะแบบนั้นเกือบ 10 ปี ซึ่งนับว่า เป็นระยะเวลาที่นานมากสำหรับการเติบโตของประเทศ
โลกของเรากำลังเผชิญกับสภาวะ Stagflation
ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันทั่วโลก เราก็กำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจแบบชะลอตัวอยู่ ซึ่งธนาคารโลกเตือนว่า สภาวะแบบปี 1970s อาจเกิดขึ้นในปีนี้อีกค่ะ และจะไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น ธนาคารโลกจึงออกมาเตือนเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เตรียมพร้อมรับมือ หรือหาวิธีแก้ก่อนที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวขึ้นมาจริง ๆ เพราะถ้าหากเกิดขึ้นจริงแล้ว มันก็เป็นเรื่องยากที่จะรับมือ และทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นนั่นเอง
ทำไมนักลงทุนทั่วโลกถึงหวาดกลัว Stagflation ?
สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น เป็นเหมือนฝันร้ายของนักลงทุน เพราะปัญหานี้แก้ไขยาก อย่างที่คุณน้าได้พูดถึงช่วงปี 1970s ของทางสหรัฐฯ ยังใช้เวลาร่วมทศวรรษในการแก้ไขปัญหานี้เลยค่ะ
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ก็กำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ อย่างที่เราเห็นข่าวที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ FED พยายามเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้สูงไปมากกว่าเดิมก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การแก้ไขเงินเฟ้อด้วยเช่นกันค่ะ
วิธีแก้ไข Stagflation คืออะไร
นักวิเคราะห์ตลาด มองว่า การแก้ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และมีความท้าทายสูงค่ะ แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาจะมีการปรับใช้กลยุทธ์ดังนี้ค่ะ
1. นโยบายการเงิน
นโยบายการเงินออกโดยธนาคารกลางโดยทั่วไปสามารถลดอัตราเงินเฟ้อ (อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น) หรือเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ลดอัตราดอกเบี้ย) แต่ปัญหา คือ นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ไขทั้งเงินเฟ้อ และภาวะถดถอยได้พร้อมกันค่ะ เพราะการเพิ่มและลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ใช่คำตอบในการแก้พิษเศรษฐกิจแบบชะลอตัวเสมอไป เพราะความจริงแล้ว สภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ได้ใช้อัตราเงินเฟ้อมาเป็นตัวชี้วัด
2. การลดการพึ่งพาน้ำมัน
ลดการพึ่งพาน้ำมันของประเทศต่าง ๆ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเศรษฐกิจซบเซา
3. การเพิ่มอุปทานรวม
การเพิ่มอุปทานรวม (Aggregate Supply) เช่น การแปรรูป หรือปรับกฎระเบียบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต
4. การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting เป็นนโยบายที่ทางธนาคารจะกำหนดออกมาเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อประจำปีอยู่ในกรอบที่กำหนด เพราะมีความเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากว่า สามารถรักษาเสถียรภาพทางราคาไว้ได้ ซึ่งก็คือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อนั่นเองค่ะ อย่างไทยเราก็จะใช้กลยุทธ์นี้ด้วยเช่นกัน
สรุป
ภาวะเศรษฐกิจแบบ Stagflation เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบโตน้อยมาก เนื่องจาก ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น, สหภาพแรงงานที่มีอำนาจ, ผลผลิตลดลง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเหตุการณ์ Stagflation มีมาตั้งแต่อดีตเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เหตุการณ์ในอดีตกำลังอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันค่ะ เพราะเราต้องเผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาซึ่งอาจเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางได้ออกมาเตือนในเรารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเพราะ เหตุการณ์ Stagflation เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก แต่คุณน้าก็ได้สรุปวิธีแก้ปัญหาทั้ง 4 ข้อที่ธนาคารกลางต่างใช้แก้ปัญหาเพื่อให้ทั่วโลกรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตค่ะ
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge