เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นคำว่า DeFi หรือ Decentralized Finance ผ่านตามาบ้างกันใช่ไหมคะ บางคนอาจจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่บางคนอาจจะไม่ วันนี้คุณหลานจะพาทุก ๆ คนมาเจาะลึก และขยายความความหมายของ Decentralized Finance กันค่ะ
DeFi คืออะไร ?
DeFi หรือ Decentralized Finance ก็คือ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง พูดง่าย ๆ ก็คือการทำธุรกรรมทางการเงินโดย “ไม่ผ่านคนกลาง” นั่นเองค่ะ ซึ่งถ้าอธิบายให้ชัด ๆ ก็เหมือนกับการที่เราต้องการฝากเงิน เรามักจะเดินทางไปทำธุรกรรมที่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารเป็น “ตัวกลาง (Middleman)” แล้วธนาคารก็จะเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการนั้น ๆ แต่สำหรับ Decentralized Finance นั้น ก็เหมือนการตัดธนาคารออกไปเลยค่ะ
โดยการทำธุรกรรมใน Decentralized Finance จะทำผ่านระบบ Blockchain พร้อมกับ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contact) ในการทำธุรกรรม เพื่อกำหนดเงื่อนไข ให้คู่สัญญาทั้งคู่ปฏิบัติตาม ทำให้ไม่มีการโกงกันเกิดขึ้นในระบบ เกิดความเชื่อใจกัน
Decentralized Finance | Centralized Finance |
ไม่มีตัวกลาง | มีตัวกลาง |
ไม่ต้องขอใบอนุญาต | ต้องได้รับใบอนุญาต |
ระบบเปิด | ระบบปิด |
ไม่ปกปิดข้อมูล | ข้อมูลมักเป็นความลับ |
ค่าธรรมเนียมถูกกว่า | ค่าธรรมเนียมสูง |
สร้างอยู่บน Blockchain | สร้างบนโครงสร้างทางการเงินเดิม |
แล้วทำไมเราต้องมีตัวกลาง ?
เรามีตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินของเราที่ฝากไว้จะไม่หายไปไหน และเพื่อความปลอดภัย ซึ่งตัวกลางในการทำธุรกรรมเหล่านี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และไม่มีการโกงเกิดขึ้น จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจ และถ้าหากเกิดการทุจริตขึ้นมาคนที่มีหน้าที่ติดตามเงินก็คือตัวกลาง ไม่ใช่ลูกค้าอย่างเรา ๆ แต่อย่างใด โดยตัวกลางเหล่านี้ก็จะได้รับค่าเสี่ยงที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียม” เป็นกำไรตอบแทนค่ะ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีตัวกลาง ?
การที่ไม่มีตัวกลางในการทำธุรกรรมนั้นก็เปรียบเสมือนการเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการทำธุรกรรมร่วมกันมาเจอกันโดยตรง เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง โดยจะทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชน (Blockchain) พร้อมกับ Smart Contract
ซึ่งเจ้า Smart Contract จะทำหน้าที่เหมือนศาลาพักเงินไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโกงเกิดขึ้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขให้คู่สัญญาปฏิบัติตาม ซึ่งสกุลเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนในระบบ Decentralized Finance ก็คือ คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) นั่นเองค่ะ
DeFi ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
- การปล่อยกู้ เช่น Compound มีการทำงานคล้ายกับธนาคาร คือรับฝากเงินแล้วนำไปปล่อยกู้ จากนั้นนำดอกเบี้ยปล่อยกู้มาจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ฝากเงิน (คล้ายกับย่อธนาคารมาอยู่ใน Smart Contract) แต่ Compound จ่ายดอกเบี้ยเป็นวินาที ดอกเบี้ยไม่นิ่งเป็นไปตามกลไลตลาด ซึ่งกลไกนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ Smart Contract ของ Compound ดังนั้น แทนที่จะถือคริปโตไว้เฉย ๆ ถ้าไม่ได้นำไปเทรดก็สามารถนำฝากไว้ที่ Compound เพื่อรอรับดอกเบี้ย
- Stablecoin คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์อื่น เช่น สกุลเงิน Dollar หรือ Euro เพื่อรักษาให้มูลค่าของเหรียญให้คงที่
- Decentralized Exchange คือ แพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อผู้ใช้กับผู้ใช้โดยตรง (Peer-toPeer) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง
- Yield farming เปรียบเสมือนการทำนาบนโลกคริปโต ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกแพลตฟอร์ม Decentralized Finance ต่าง ๆ ที่มอบกำไรหรือผลตอบแทนสูง เหมือนกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ในนา ที่มีผลการเก็บเกี่ยวเป็นเหรียญหรือค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการปล่อยกู้ โดยรางวัลเหล่านี้จะได้รับการกลับมาตามอัตราส่วนของจำนวนเหรียญที่ฝากไว้ให้กู้ยืมได้ และเป็นรางวัลของการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการเพิ่มเหรียญลงในระบบกลาง
สรุป
เป็นที่น่าสนใจนะคะ ว่าอนาคตของ DeFi จะไปในทิศทางไหน เพราะในปัจจุบันคนที่เข้าถึงได้ก็ยังคงอยู่ในวงจำกัดเพราะยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มีความซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตามการเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะโลกทุกวันนี้หมุนเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองค่ะ
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge