ก่อนหน้านี้ มีการนำเสนอข่าวอย่างหนาหูว่า ไทยจะมีการเก็บภาษีขายหุ้นเข้าคลังเพิ่มเติม โดยจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราคงที่ 0.05% – 0.10% แต่มันคืออะไรกันแน่? นักลงทุนทุกคนต้องเสียไหม? คุณน้าจะพาไปทำความรู้จัก กลุ่มที่ได้รับการยกเว้น, กลุ่มที่ต้องเสีย ตลอดจนการคำนวณภาษีกันค่ะ
ภาษีขายหุ้น คืออะไร?
ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ การจัดเก็บภาษีสำหรับการขายหุ้นในตลาดหุ้นเพิ่มเติม โดยที่ภาษีส่วนนี้จะไม่รวมอยู่ในภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) และภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax) ซึ่งเป็นเงินได้ของนักลงทุนค่ะ
หากให้อธิบายง่าย ๆ เลยก็คือ ภาษีขายหุ้นจะถูกเก็บ “ขณะทำรายการขายหุ้น” โดยจะคิดจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของการขาย แต่ภาษีกำไรจากการขายหุ้นจะถูกเก็บเมื่อมีรายได้ “หลังจากทำการขายหุ้น” นั่นเองค่ะ
ภาษีขายหุ้นในอดีต
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยมีภาษีขายหุ้นมาก่อนค่ะ เพียงแต่ในขณะนั้นเรียกว่า ‘ภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ‘ โดยมีการเก็บภาษีในอัตรา 0.1% มาตั้งแต่ปี 2521 และได้รับการยกเว้นไปในปี 2525 จากนั้น มีการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในปี 2534 ก่อนจะได้รับการยกเว้นในปี 2535 จนถึงปัจจุบันค่ะ
โดยเหตุผลที่ทำให้มีการยกเว้นภาษีขายหุ้นมาถึงปัจจุบัน คือ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผู้ร่วมตลาดต่างกังวลว่า ภาษีขายหุ้นจะทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจ และผลักให้คนออกไปลงทุนในต่างประเทศค่ะ
ภาษีขายหุ้นในปัจจุบัน 2566
สำหรับข่าวการเก็บภาษีขายหุ้นในปัจจุบัน เป็นที่ถกเถียงกันมาสักพัก และร้อนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาค่ะ ซึ่งดูเหมือนว่า เสียงแย้งจะมากกว่าเสียงเห็นด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลอยู่ดี เพราะกระทรวงการคลังได้เดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้นตามที่ ครม.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว และคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2566 ค่ะ โดย รมว. การคลัง ให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้กับรัฐ แม้ว่าอาจทำให้สภาพคล่องของตลาดลดลงไปก็ตามค่ะ
การคำนวณภาษีขายหุ้น
เรามาดูรายละเอียดของข้อบังคับรอบนี้กันค่ะว่า นักลงทุนต้องเสียภาษีเท่าไหร่M
- ช่วงปี 2566 จะมีการเก็บภาษีเพียงครึ่งเดียว คือ 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) จากยอดขาย ซึ่งหากนำตัวเลขนี้มารวมกับค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ 0.15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% สรุปแล้ว นักลงทุนต้องเสียภาษีรวม 0.195%
- ช่วงปี 2567 จะมีการเก็บภาษีเต็มอัตราที่ 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) จากยอดขาย ซึ่งหากนำตัวเลขนี้มารวมกับค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ 0.15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% สรุปแล้ว นักลงทุนต้องเสียภาษีรวม 0.22%
* Note : คุณน้าชวนรู้! ภาษีท้องถิ่น คือ ภาษีที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ผ่านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้ายค่ะ
นั่นหมายความว่า ปีหน้าเราจะเสียภาษีแบบลดราคา 50% ขณะที่ปีถัดไปเราต้องเสียภาษีแบบเต็มราคานั่นเองค่ะ แม้จะมีการขายหุ้นแค่ 100 บาท ก็ต้องเสียภาษีนะคะ
ตัวอย่างเช่น ปีหน้า คุณน้าขายหุ้น 100 บาท คุณน้าก็จ่ายภาษีขายหุ้นเพียงครึ่งราคา หรือก็คือ 0.055 บาท แต่หากเป็นปีถัดไปที่ต้องเสียเต็มราคา คุณน้าก็ต้องเสียภาษีขายหุ้นที่ราคา 0.11 โดยราคาที่กล่าวไปนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ และภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ
จากการจัดเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ปีหน้าจะสามารถเก็บได้ถึง 8,000 ล้านบาท ส่วนปีถัดไปเกือบ 20,000 ล้านบาทค่ะ นับเป็นเม็ดเงินอย่างมหาศาลทีเดียวที่จะไหลเข้ารัฐ ดังนั้น มันจึงเป็นที่ถกเถียงกันค่ะ
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาษีขายหุ้น
1) นักลงทุนรายย่อย – สถาบัน
หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ “นักลงทุน” ค่ะ โดยเฉพาะนักลงทุนสายเก็งกำไร, สายเดย์เทรด, นักลงทุนสถาบัน และกลุ่มที่ใช้โปรแกรมซื้อขาย (High-frequency Trading: HFT) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 20% – 30% ของการซื้อขายต่อวันค่ะ
เพราะมันจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มีค่าคอมมิชชันอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ที่จะสูงขึ้น และต้นทุนภาษีที่ซ้ำซ้อน (Double Taxation) ในผลิตภัณฑ์การลงทุนบางประเภท เช่น ETF, Derivative Warrant และ Single Stock Futures ด้วยค่ะ
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายหุ้น รวมถึงสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เช่น การลงทุนเพื่อการออมเป็นหลักค่ะ โดยมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าการซื้อขายอาจลดลงถึง 30% – 40%
2) นักลงทุนชาวต่างชาติ
นอกจากนักลงทุนภายในที่หายไปแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ “นักลงทุนชาวต่างชาติ” ค่ะ เพราะอย่าลืมนะคะว่า เม็ดเงินที่ไหลเวียนในตลาดทุนไทยส่วนใหญ่มาจากต่างชาติเกือบครึ่งหนึ่ง ดังนั้น หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น นักลงทุนชาวต่างชาติและเม็ดเงินจากส่วนนี้ก็จะหายไปเยอะเช่นกัน ซึ่งมันจะกระทบต่อสภาพคล่อง ศักยภาพตลาดหุ้นไทย รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไปค่ะ
3) ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ “นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์” ที่อาจจะมีผลประกอบการลดลง จนต้องลดค่าคอมมิชชันลงเพื่อโน้มน้าวนักลงทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ค่ะ
กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้น
- ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
- สำนักงานประกันสังคม
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- กองทุนการออมแห่งชาติ
- กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนอื่น ๆ ตามข้อ 3-7
ในช่วงที่ผ่านมา มีการถกเถียงเกี่ยวกับผู้ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้นเป็นจำนวนมากค่ะ เพราะมีการรายงานข่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่จะได้รับการยกเว้น ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น คือ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ ทั้งนี้ การยกเว้นให้แก่ Market Maker ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ค่ะ
สรุป ภาษีขายหุ้น
โดยสรุปแล้ว ภาษีขายหุ้น ก็คือ ภาษีเพิ่มเติมที่มีการจัดเก็บขณะทำการขายหุ้น นอกเหนือจากค่าคอมมิชชัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไรจากการขายหุ้น และภาษีจากเงินปันผลค่ะ ซึ่งการจัดเก็บภาษีนี้จะทำให้เพิ่มต้นทุนในการขายหุ้นแก่นักลงทุน อันจะกระทบต่อนักลงทุนทั้งภายในและภายนอก ธุรกิจนายหน้า รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในอนาคตค่ะ
ดังนั้น การจัดเก็บภาษีขายหุ้นแม้จะผ่านมติแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า มันจะกระทบต่อตลาดทุนไทยแค่ไหน เพราะแม้แต่เพื่อนร่วมภูมิภาคของเราก็ยังยกเว้นภาษีขายหุ้น หรือเลือกเก็บเฉพาะส่วน เพื่อดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศ แล้วไทยจะกลับมายกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่ ทุกคนคิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : iTax, The Standard, Thairath, กรุงเทพธุรกิจ
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge