Tips วางแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์ รับสิทธิประโยชน์ x2

Tips วางแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์ รับสิทธิประโยชน์ x2

วางแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์
Table of Contents

เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็มีเรื่องราวมากมายให้เราต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเงิน ภาษี บัตรเครดิต การกู้ซื้อต่าง ๆ ประกันชีวิต ตลอดจนเรื่องสำหรับชีวิตคู่และวัยเกษียณ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่มีสอนในชั้นเรียน ทำให้คนวัยทำงานจำนวนมากพลาดโอกาสบางอย่างไปค่ะ และหนึ่งเรื่องที่คนส่วนมากมักจะพลาดตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็คือ “การลดหย่อนภาษี” ค่ะ

หลายคนอาจมองว่า การลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ลดได้ไม่เยอะ จ่าย ๆ ไปก็จบ แต่ทราบหรือไม่คะว่า การลดหย่อนภาษีนอกจากจะทำให้คุณประหยัดเงินแล้ว ยังทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย และหากรวมเงินที่ลดหย่อนทบไปเรื่อย ๆ ก็ถือเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลเช่นกัน ดังนั้น จะดีกว่ามั้ยคะถ้าเราเริ่มวางแผนลดหย่อนภาษีตั้งแต่วันนี้!

ภาษีคืออะไร?

ภาษี (Tax) คือ เงินที่ประชาชนและผู้ประกอบการต้องนำส่งให้แก่รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยภาษีที่วัยทำงานต้องจ่าย คือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี ทุกคนสามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรหรือผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้เช่นกัน

ภาษีคืออะไร

การวางแผนภาษีคืออะไร?

การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อทำให้เราสามารถคาดการณ์การเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ทำให้เรารู้ว่า รายได้ของเราจัดเป็นเงินได้ประเภทไหน คำนวณภาษีอย่างไร ต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากต้องเสียภาษีจะมีการจัดการอย่างไร ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปอ่านวิธีวางแผนและคำนวณภาษีเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้ค่ะ

การลดหย่อนภาษีคืออะไร?

การลดหย่อนภาษี คือ การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เราจ่ายภาษีน้อยลง ซึ่งโครงการสนับสนุนเหล่านี้มักจะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมหรือนิสัยบางอย่างให้แก่ประชาชน ทำให้รายการลดหย่อนภาษีอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี เช่น ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่ต้องการกระตุ้นให้คนแต่งงาน หรือโครงการ Easy E-Receipt ที่รัฐต้องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงพิษเศรษฐกิจ เป็นต้นค่ะ

โดยเราสามารถนำรายการลดหย่อนภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ในปีนั้น ๆ ไปลบออกจากเงินได้ ทำให้เงินได้สุทธิของเราลดลง ดังนั้น เราจึงเสียภาษีน้อยลงนั่นเองค่ะ

ประโยชน์ของการลดหย่อนภาษี

การลดหย่อนภาษีสำคัญอย่างไร? ทำไมทุกคนจึงไม่ควรมองข้าม คุณน้าจะสรุปประโยชน์แบบ x2 ของการลดหย่อนภาษีให้ดังนี้ค่ะ

ประโยชน์ของการลดหย่อนภาษี

1) ลดการจ่ายภาษีที่มากเกินจำเป็น

หากคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิโดยที่ไม่มีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็เหมือนกับว่า ทุกคนซื้อของชิ้นหนึ่งในราคาเต็ม ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ส่วนลดได้เพียงแสดงสิทธิ์และปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่ถ้าทุกคนใช้ส่วนลดในจุดนี้และนำเงินส่วนลดที่ได้มาไปใช้จ่ายหรือเก็บออมไว้แทน ทุกคนก็จะประหยัดขึ้นได้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ

หากติดตามวิธีการคำนวณภาษีจากบทความการวางแผนยื่นภาษีออนไลน์แล้ว ทุกคนจะสังเกตว่า คุณน้าได้ส่วนลดจากค่าลดหย่อนเกือบเท่าตัวเลย ถือว่าประหยัดเงินได้หลายพันเลยค่ะ แถมตัวอย่างการคำนวณดังกล่าวยังไม่รวมค่าลดหย่อนภาษีในส่วนอื่น ๆ ที่คุณน้าสามารถเข้าร่วมได้ด้วย ดังนั้น หากทุกคนมีการวางแผนภาษีดี ๆ หารายการลดหย่อนที่สามารถเข้าร่วมได้ก็อาจทำให้คุณประหยัดรายจ่ายในส่วนนี้ ดีไม่ดีก็อาจทำให้คุณไม่ต้องจ่ายภาษีเลยก็ได้ค่ะ 

อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของรายการลดหย่อนนั้น ๆ ให้ถูกต้องด้วยนะคะ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็อาจเปลี่ยนจากได้รับประโยชน์เป็นเสียค่าปรับสูงถึง 1.5% ต่อเดือนแทนค่ะ

ลดหย่อนภาษีจากสิทธิประโยชน์อื่นนอกจากส่วนลด

2) ได้สิทธิประโยชน์อื่นนอกจากส่วนลด 

นอกจากส่วนลดที่ได้แล้ว หากเข้าร่วมรายการลดหย่อนภาษีที่รัฐต้องการกระตุ้นก็จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น

  • หากเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receip คุณก็จะได้รับสินค้าที่คุณต้องการ
  • หากเข้าร่วมโครงการดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย คุณก็จะได้รับบ้านหรือคอนโด เป็นต้น
  • หากเข้าร่วมค่าลดหย่อนภาษีในกลุ่มประกันและการลงทุน คุณก็จะได้รับหน่วยลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ หรือประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีการลดหย่อนภาษีบางรายการที่ไม่ได้ให้คุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นประโยชน์แบบนามธรรมที่รัฐต้องการกระตุ้นให้เกิดนิสัยนั้น ๆ เช่น

  • ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรส
  • ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับบุตร
  • ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการเลี้ยงดูบิดามารดา

ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัว การมีบุตร ตลอดจนการเลี้ยงดูพ่อแม่ในวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากใครมีครอบครัวที่มีเงื่อนไขเข้าเกณฑ์ก็สามารถเข้าร่วมรายการลดหย่อนดังกล่าวได้ค่ะ เพราะจะทำให้คุณได้ส่วนลดเพิ่มมากขึ้น

รายการลดหย่อนภาษี

อย่างที่กล่าวไปนะคะว่า รายการลดหย่อนภาษีของแต่ละปีอาจมีความแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งในปี 2567 นี้ มีรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ตามเงื่อนไข ดังนี้ค่ะ

รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว

1. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว

โดยการลดหย่อนสำหรับตนเองและครอบครัว ได้แก่

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท สำหรับคู่ที่มีการจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสมจะต้องไม่มีรายได้*
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 60,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท (บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ต้องเกิดตั้งแต่ปี 2561 จึงจะได้รับค่าลดหย่อนคนละ 60,000 บาท) โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรืออายุเกิน 25 ปี แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ
  • ค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สามารถใช้กับบิดามารดาของตนเองหรือคู่สมรสก็ได้ แต่บิดามารดาต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนในการอุปการะผู้พิการและทุพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ, หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ และผู้พิการจะต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท

*หมายเหตุ รายการดังกล่าวผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิ์ได้ 1 คนเท่านั้น คู่สมรสหรือพี่น้องที่ร่วมเงื่อนไขไม่สามารถใช้สิทธิ์ซ้ำได้


รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน

2. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน

โดยการลดหย่อนสำหรับประกันและการลงทุน ได้แก่

  • ประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นบริษัทประกันในไทย และมีระยะคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจริง 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ลดหย่อนตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 300,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ตามจริง 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ตามจริง 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

3. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

โดยการลดหย่อนสำหรับเงินบริจาค ได้แก่

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท


รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศษฐกิจ

4. รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยการลดหย่อนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่

  • Easy E-Receipt ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับสินค้าและบริการในประเทศระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะต้องมีใบเสร็จ E-Tax Invoice และ E- Receipt เท่านั้น ซึ่งสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ รวมถึง E-Book
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท
  • เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดทั่วไทย ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบเสร็จ E-Tax Invoice และ E- Receipt เป็นหลักฐาน

📢 อัปเดต ครม. ไฟเขียว Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568 ประกาศแล้ว!

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบปรับมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 สำหรับสินค้าและบริการในประเทศ โดยปรับเกณฑ์เล็กน้อยจากปีภาษี 2567 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีรายละเอียด ดังนี้

  • ส่วนแรก ลดหย่อนสูงสุด 30,000 บาท สำหรับสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยต้องมีใบเสร็จ E-Tax Invoice หรือสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบเสร็จ E-Receipt เป็นหลักฐาน
  • ส่วนที่สอง ลดหย่อนสูงสุด 20,000 บาท สำหรับสินค้า OTOP หรือสินค้าวิสาหกิจชุมชน
  • ระยะเวลาการใช้ Easy E-Receipt 2.0 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 (ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568)


ทั้งหมดนี้ คือ 21 รายการลดหย่อนภาษีที่ทุกคนสามารถนำมาไปใช้ได้ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ค่ะ หากใครกำลังวางแผนภาษีอยู่ อย่าลืมนำรายการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมนะคะ เพราะมันอาจจะทำให้คุณประหยัดเงินได้อย่างไม่คาดคิดเลยค่ะ

รายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ

นอกจากรายการลดหย่อนแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับรายการต่อไปนี้ด้วยค่ะ

  1. ยกเว้นเครดิตภาษีเงินปันผล ได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
  2. ยกเว้นเงินได้สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ 190,000 บาทแรก

Tips 5 ขั้นตอนวางแผนลดหย่อนภาษี เพื่อรับสิทธิประโยชน์แบบ x2

รายการลดหย่อนภาษีมีมากถึง 21 รายการ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองเข้าเกณฑ์เงื่อนไขใดบ้าง สามารถใช้สิทธิ์ได้หรือไม่ คุณน้ามีวิธีวางแผนลดหย่อนภาษีง่าย ๆ มาให้ทุกคนได้ทำตามกันค่ะ

5 ขั้นตอนวางแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์

ขั้นตอนที่ 1 ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของรายการลดหย่อนภาษี

อันดับแรก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลดหย่อนภาษีมีทั้งหมดกี่รายการ แต่ละรายการมีเงื่อนไขใดบ้าง ซึ่งคุณน้าก็ได้สรุปรายละเอียดและเงื่อนไขแต่ละรายการไว้ให้ในข้างต้นแล้ว ทุกคนสามารถเซฟเก็บไว้เผื่อกลับมาอ่านอีกครั้งได้เลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษีของตนเอง

 ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษีของตนเองที่เว็บสรรพากร

หากทราบว่าตัวเองเข้าเงื่อนไขใดก็ให้ลิสต์ไว้ จากนั้นเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรในส่วนของ “ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี (My Tax Account)” คลิกข้อมูลปีภาษีล่าสุดและกดตรวจสอบข้อมูลได้เลยค่ะ

อย่างไรก็ดี รายการลดหย่อนบางประเภทจะไม่ปรากฏ หากยังไม่ได้ยื่นแสดงหลักฐานในช่วงยื่นภาษีค่ะ ซึ่งทุกคนอาจจะลองใช้โปรแกรมหรือ Application ในการคำนวณภาษีเบื้องต้นอย่าง iTAX เพื่อวางแผนภาษีคร่าว ๆ ก็ได้เช่นกันค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 เตรียมเอกสารและหลักฐานเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี

วางแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์ : เตรียมเอกสาร

ถ้ามั่นใจว่าตัวเองตรงตามเกณฑ์และเงื่อนไขของรายการลดหย่อนนั้น ๆ ก็ให้เตรียมเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีในปีนั้น ๆ ไว้ด้วยค่ะ เช่น 

  • ใบ 50 ทวิ
  • ทะเบียนสมรส
  • ใบสูติบัตรบุตร
  • ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/ สุขภาพ
  • หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร
  • ใบเสร็จรับเงินการซื้อกองทุน
  • หลักฐานการบริจาค
  • ใบกำกับภาษี/ ใบเสร็จรับเงินโครงการ Easy E-Receipt
  • เอกสารประกอบการยื่นแบบ

หมายเหตุเพิ่มเติมตัวใหญ่ ๆ ด้วยนะคะว่า บลจ. และบริษัทประกันบางแห่ง เราจำเป็นต้องติดต่อไปเพื่อแสดงความยินยอมให้บริษัทเหล่านั้นนำส่งข้อมูลการถือหน่วยลงทุนหรือการชำระเบี้ยประกันให้กับกรมสรรพากรโดยตรงด้วยค่ะ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบกับบริษัทที่ตัวเองใช้งานอยู่กันด้วยนะคะ

ขั้นตอนที่ 4 ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ลดหย่อนภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

เมื่อถึงช่วงยื่นภาษีของทุกปี ให้ทำเรื่องผ่านสำนักงานสรรพากรท้องที่หรือเว็บไซต์ของกรมสรรพากรในช่วงที่กำหนด ซึ่งคุณน้าแนะนำให้ยื่นออนไลน์จะสะดวกที่สุดค่ะ และในการยื่นภาษีอย่าลืมกรอกข้อมูลการลดหย่อนให้ครบถ้วนด้วยนะคะ เพราะถ้าไม่กรอกข้อมูลก็จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนนั้น ๆ ค่ะ

ขั้นตอนที่ 5 ตรวจสอบข้อมูลและนำส่งเอกสาร

ขั้นตอนสุดท้าย คือ ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนและกดขอเงินคืนภาษีก่อนกดยื่นแบบ จากนั้นอัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรในส่วน “สอบถาม/ ส่งเอกสารขอคืนภาษี” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการพิจารณา ซึ่งหากเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ก็จะร้องขอให้เราส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้น อย่าลืมเข้ามาตรวจสอบสถานะ และเชื่อมหมายเลข PromptPay เป็นเลขประจำตัวประชาชนเพื่อความสะดวกกันด้วยนะคะ


สรุปการวางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อรับสิทธิประโยชน์

การยื่นและเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้พึงกระทำ แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้จากการลดหย่อนต่าง ๆ ดังรายการข้างต้น ซึ่งการใช้สิทธิ์ดังกล่าวถือเป็นการบริหารเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น คุณน้าจึงหวังว่า ทุกคนจะใช้สิทธิ์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, iTAX, Finnomena

บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing

คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge

Picture of khunnaphatrade
khunnaphatrade
Recent Post
เทรด Forex โบรกไหนดี อัปเดตทุก Rank 2025
เทรด Forex โบรกไหนดี อัปเดตการจัดอันดับทุก Rank 2025

เทรด Forex โบรกไหนดีนะ? คุณน้าจะพาไปดูการจัดอันดับ Top 3 โบรกเกอร์ของแต่ละ Rank กันค่ะว่า ถ้าอยากเทรดแบบนี้ควรเลือกโบรกไหน! ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันค่ะ

โบรกเกอร์ Forex ที่น่าเชื่อถือ 2025
5 โบรกเกอร์ Forex ที่น่าเชื่อถือ ปี 2025

โบรกเกอร์ Forex ที่น่าเชื่อถือ ปี 2025 จากคุณน้า ทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือโบรกเกอร์ Forex เพื่อลดความเสี่ยงในการเจอโบรกเกอร์ Forex หลอกลวง ปิดหนี!

เทรดหุ้น CFD กับ IUX โบรกเกอร์หุ้นค่าธรรมเนียมถูก
เทรดหุ้น CFD กับ IUX โบรกเกอร์หุ้น ค่าธรรมเนียมถูก?! อัปเดตปี 2025

ในวันนี้คุณน้าจะมานำเสนอเทรดหุ้น CFD กับ IUX โบรกเกอร์หุ้น ค่าธรรมเนียมถูก พร้อมเจาะคุณสมบัติเด่น ๆ ของ IUX ว่ามีอะไรบ้าง? !