หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า Soft Power กันมาบ้างใช่ไหมคะ แล้วรู้หรือไม่ว่า Soft Power ที่พูดกันอยู่เนี่ย แท้จริงแล้วคืออะไร? ส่วนตัวคุณน้าเอง เห็นว่า Soft Power เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับกระแสของประเทศนั้นที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อผลักดันการสร้างภาพจำของชาติ ที่มาพร้อมกับกลิ่นอายทางเอกลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ ค่ะ
คุณน้าขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ หากเราคิดถึงเกาหลี ก็คงนึกถึง ซีรี่ย์ กิมจิ หรือไอดอลเกาหลี แต่หากคิดถึงญี่ปุ่น คงนึกถึงซากุระ ปลาดิบ หรือ กิโมโน นั่นเองค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Soft Power ที่สร้างชื่อเสียง จนได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากค่ะ
มาทำความรู้จักกับ Soft Power คืออะไร?
ที่มา : Wikipedia
เจ้าของแนวคิด Soft Power อย่าง Joseph S. Nye, Jr. นักวิชาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายเกี่ยวกับ Soft Power ว่า Soft Power คือ กระบวนการหรือกลไก ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองในระดับนานาชาติของประเทศหนึ่งได้ โดยการแฝงวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ลงไปในสื่อ การท่องเที่ยว และนโยบายภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดี จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีค่ะ
ดังนั้นแล้วการสร้าง Soft Power จึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและการวางแผนที่ดีของภาครัฐ เพื่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ในระยะยาวค่ะ
ทำไม Soft Power ถึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจ
Soft Power กลายเป็นกลไกที่สร้างอิทธิพลให้ผู้อื่นเกิดการยอมรับ และพร้อมจะสร้างกระแสให้เป็นที่ต้องการของลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง โดยการใช้สื่อออนไลน์ในการส่งเสริมสินค้าหรือบริการต่าง ๆ จนเกิดเป็นจุดขายของแต่ละธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กระแสเกาหลีฟีเวอร์ ที่ทำให้มีร้านอาหารที่ตกแต่งสไตล์เกาหลีเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า Soft Power เป็นกลยุทธ์แฝงที่มีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมากค่ะ
Soft Power แตกต่างจาก Hard Power อย่างไร
เมื่อมี Soft Power แล้วนั้น ก็มี Hard Power เช่นกัน โดย Hard Power คือ การใช้อำนาจเพื่อบังคับ ให้ผู้คนทำตามในสิ่งที่ต้องการ ซึ่ง Hard Power นี้ก็จะได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้นค่ะ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจทางทหาร อำนาจทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ในขณะที่ Soft Power นั้น เป็นการใช้อำนาจที่นุ่มนวลและทำให้ผลลัพธ์มั่นคงถาวรกว่า เพราะเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างหนึ่ง ที่โน้มน้าวนักท่องเที่ยวในแง่ความเป็นมิตรและความเป็นกันเองค่ะ
Soft Power ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไร
ที่มา: Naewna.com
จากที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เห็นแล้วนะคะว่า Soft Power ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในโลกปัจจุบัน เพราะ Soft Power กลายเป็นหนึ่งในอิทธิผลแฝงที่ประสบความสำเร็จ จนทำให้ประเทศนั้น ๆ สามารถมีรายได้จาก Soft Power เช่น อาหาร แหล่งท่องเที่ยว การศึกษา หรือแม้แต่ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกากับกระแสผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูด รายการโทรทัศน์และศิลปินระดับโลกมากมาย หรือประเทศอังกฤษ กับการเป็นเจ้าแห่งพรีเมียร์ลีก ที่ครองใจแฟนบอลทั่วโลกมาอย่างยาวนานค่ะ
อีกทั้งกระแสภาพยนตร์บาร์บี้ (Barbie 2023) ของ Greta Gerwig ที่เพิ่งฉายไปไม่นานมีรายได้ในบ็อกออฟฟิศสูงทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ค่ะ ซึ่งในข่าวกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นกระแส Barbie Effect ที่ส่งผลเป็นบวกต่อหุ้นของ Mattle บริษัทเจ้าของลิขสิทธ์บาร์บี้ที่มียอดขายตุ๊กตาบาร์บี้เพิ่มขึ้นถึง 56% จนทำให้หุ้นในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าในไตรมาสถัดไปมูลค่าหุ้นจะพุ่งขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ค่ะ
นอกจากนี้ก็มีประเทศอื่น ๆ อีกมากมายที่สนับสนุบและให้ความสำคัญกับ Soft Power จนทำให้เศรษฐกิจในประเทศของตนนั้นเติบโตขึ้นตามไปด้วยค่ะ
ตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ กับกลยุทธ์ Soft Power
หากให้ยกตัวอย่างประเทศที่มีกลยุทธ์เกี่ยวกับ Soft Power มากที่สุด หากไม่กล่าวถึง ประเทศเกาหลีใต้ คงเป็นไปไม่ได้ค่ะ เพราะการสนับสนุนที่จริงจังของรัฐบาลเกาหลีใต้ ส่งผลให้เกาหลีใต้สามารถขับเคลื่อน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านสื่อได้อย่างแนบเนียน ผ่านการจูงใจผู้คนในสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งมี 5 ปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ไปทั่วโลกค่ะ
1. การนำอาหารเกาหลี (K Food) มาให้เป็นที่จดจำ
ที่มา: klook.com
มาเริ่มกันที่ Soft Power อย่างแรก นั่นก็คือ อาหารเกาหลี (K Food) ซึ่งจะเห็นได้จากซีรี่ย์เกาหลีแทบทุกเรื่องจะมีการแทรกอาหารเกาหลีไว้เสมอ เป็นเหมือนกับการกินในชีวิตประจำวัน จนทำให้แฟน ๆ ซี่รีย์อินกับอาหารเกาหลี จนต้องไปซื้อตามกันเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ซีรี่ย์ Itaewon Class ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจร้านอาหาร ที่ตัวเอกอย่าง พัคแซรอยต้องการผลักดันอาหารเกาหลีให้เติบโตไปทั่วโลก ซึ่งช่วงที่ซีรี่ย์ออนแอร์นั้นกิมจิมีกระแสและขายดีเป็นอย่างมาก รวมทั้ง Hite Jinro (โซจู) และ มาม่าเกาหลี (รามยอน) เช่นกันค่ะ
2. เครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
ที่มา: มนุษย์ป้าบ้าซีรี่ย์
มาต่อกันที่ Soft Power ที่สอง คือ เครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ซึ่งถือเป็น Soft Power ที่แฝงอยู่ในซีรี่ย์เช่นกันค่ะ โดยเฉพาะฉากที่ตัวเอกต้องมาสก์หน้าอยู่บ้าน หรือออกไปชอปปิง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กลายเป็นสิ่งที่ผู้ชมต้องไปเลือกช้อปตาม ๆ กันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ซีรี่ย์ King The Land ในฉากที่เพื่อนของนางเอกพยายามจะขายสินค้า เพื่อไปเป็นของขวัญของพระเอกในเรื่อง ซึ่งในชีวิตจริงนั้น พระเอกของเรา (อีจุนโฮ) เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับน้ำหอม Dior Sauvage อยู่ค่ะ
3. กลยุทธ์ที่ได้นำสิ่งที่มีอยู่ในประเทศมาทำให้เห็นชัดมากขึ้น
ที่มา: sanook.com
ประเทศเกาหลีใต้ พยายามใส่อาชีพต่าง ๆ เข้าไปในซีรี่ย์เสมอค่ะ เพื่อให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ซีรี่ย์ Start Up (2020) ที่ปลุกกระแสธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตและทำให้ผู้คนมีความเข้าใจกับธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น จากการใช้ SandBox ในการเผยแพร่แนวคิดของธุรกิจตลอดจนเรื่องการจ้างพนักงาน ทำให้เกาหลีใต้สามารถปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นขึ้นมาได้กว่า 11 ราย แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ได้เติบโตค่ะ
4. วงการ K-POP ตีตลาดทั่วโลก
ที่มา: Bandwagon.asia
วงการ K-POP ถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นที่ถูกพูดถึงในวงการดนตรีโลก ซึ่งกว่าที่ K-POP จะสามารถก้าวเข้าสู่แนวหน้าของวงการดนตรีโลกนั้น รัฐบาลจะต้องใช้เวลาในการสนับสนุน อีกทั้งการทุ่มเทฝึกซ้อมของศิลปินเกาหลีที่แข็งขันเป็นอย่างมาก เพื่อให้มีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ เพลงที่ติดหู ประกอบกับท่าเต้นที่เข้าตา ส่งผลให้ศิลปินเกาหลีกลายเป็นแบรนด์ดิ้งที่พรีเซนต์เกาหลีใต้ได้อย่างน่าหลงไหล ทำให้ศิลปินเกาหลีได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับวงการชั้นแนวหน้านับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวงการแฟชั่น หนังฮอลลีวูด หรือเทศกาลดนตรีระดับโลก
ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันอุตสาหรรมวงการ K-POP เติบโตไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับตลาด อย่างเช่น หุ้น HYPE YG และ SM ที่มีมูลค่าทางตลาดเป็นที่น่าจับตามองในแง่การลงทุนเป็นอย่างมากค่ะ
5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกาหลีใต้
ที่มา: www.lg.com
จากการสร้าง Soft Power ของเกาหลีใต้ ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้รับความเชื่อใจจากทั่วโลก ในด้านการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งหุ้นเกาหลีใต้ที่มีมูลค่าต่อตลาดมักเป็นหุ้นจากภาคเอกชน หรือกลุ่มแชโบลค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หุ้น Naver หุ้น LG หรือ หุ้น Samsung เป็นต้น
สรุป
Soft Power คือ การขยายอิทธิพลและการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ที่ทำให้ผู้คนมีความสนใจเกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ ซึ่งก็เปรียบเหมือนการสร้างภาพจำให้กับประเทศนั่นเองค่ะ Soft Power ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยของผู้บริโภคมักเชื่อมโยงไปกับความนิยมที่พวกเขาได้รับ ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น Soft Power จึงกลายเป็นสิ่งที่ภาครัฐสร้างขึ้นมา เพื่อผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตขึ้นค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Investing.com, GQThailand, Branthink.me
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge