อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ สำหรับการคิดให้เห็นภาพการเงินไทยในอนาคต ข้างหน้านี้นะคะ
ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการเริ่มใช้งานเงินบาทดิจิทัลอย่างเร็วที่สุด จะเป็นช่วงกลางปี 2022 เป็นต้นไป ถึงจะไม่ได้ใช้เร็ว ๆ นี้
แต่เรื่องนี้ มีความสำคัญกับทุกคนเลยนะคะ
แล้วเงินดิจิทัลคืออะไร ?
จะกระทบอะไรกับเราบ้าง ?
มาสรุปเป็นการเบื้องต้นกันก่อนนะคะ.. ว่าทุกวันนี้เราก็โอนเงินให้กัน ผ่านระบบดิจิทัลใช่ไหมคะ
ส่วนนี้ที่จริง หาเราเรียกรวมกัน อาจจะทำให้หลาย ๆ คนสับสนเอาได้ค่ะ แต่โครงการเงินบาทดิจิทัลนั้น จะเป็นคนละรูปแบบกันกับเงินบาท ที่เราใช้งานในแอปพลิเคชันทั่วๆ ไปนะคะ
เงินที่เราใช้ในแอปฯ ทุกวันนี้ จะเรียกว่า e-Money หรือเป็นการพิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน แล้วค่อยมาแปลงเป็นตัวเลขในภายหลังค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสั่งพิมพ์ธนบัตรออกมา ก่อนที่จะป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางธนาคารต่าง ๆ หรือนโยบายของรัฐ ซึ่งธนบัตรก็จะถูกเก็บเอาไว้ในคลังของธนาคารเองค่ะ กับถูกนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายกันผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่เราใช้กันปกติ หรือลองนึกว่าสมัยก่อน ถ้าใครที่ไม่มีแอปฯ หรือระบบออนไลน์ใด ๆ ก็จะต้องไปถอนเงินสดมาใช้ จ่ายเงินกันเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ ส่วนใครที่มีแอปฯ เงินเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นตัวเลขในแอปฯ เท่านั้น เพียงแต่เงินกระดาษนั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่เงินบาทที่เป็น “บาทดิจิทัล” ที่กำลังจะมีการเปิดทดสอบใช้งานนั้น คือเงินดิจิทัลจริงๆ เลยค่ะ
โดยที่ธนาคารกลางจะออกเงินมาบนระบบบล็อกเชน (การออกเงินก็ยังต้องมีสินทรัพย์อื่น เช่น เงินสด หรือทองคำ คอยค้ำประกันเหมือนเดิมนะคะ)
แล้วเงินดังกล่าวก็สามารถป้อนเข้าสู่ระบบได้โดยตรง เช่น ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ หรืองบประมาณประจำปี แล้วก็เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทย ที่แต่ละคนก็จะมีกระเป๋าเงินดิจิทัลเฉพาะตัวค่ะ คนไทยที่จะใช้เงิน ก็สามารถเอาเงินเหล่านั้นไปจ่ายกันได้เลยเหมือนการใช้เงินสด แม้จะไม่มีแอปฯ ของธนาคารมาเป็นตัวกลางก็ตาม
แต่จะมีความแตกต่างจากเงินสดก็คือ ทุกการใช้จ่ายระหว่างกัน จะมีการบันทึกธุรกรรมลงระบบบล็อกเชนเอาไว้ตลอดนะคะ ทำให้สามารถติดตามเงินได้ทุกบาท ว่าถูกใช้ทำอะไร หรือผ่านมือใครมาบ้าง
(เหมือนเราเขียนบันทึกลงบนธนบัตรเลยค่ะ ว่าเงินนี้เอาจ่ายค่าอะไรไป ซึ่งในความจริงมันเขียนลงบนธนบัตรไม่ได้ และต่อให้ทำได้ พอใช้ไปเยอะๆ ก็มีพื้นที่ไม่พอเขียนอีกใช่ไหมคะ)
แสดงว่ามันก็เหมือนกันกับ Bitcoin สินะ ?
จะว่าไปก็ไม่เหมือนซะทีเดียวค่ะ ถึงแม้จะมีจุดที่เหมือนกันคือการใช้งานผ่านระบบบล็อกเชน เพื่อให้เกิดทั้งความปลอดภัยและโปร่งใสในการใช้งาน แต่เพราะ Bitcoin หรือสินทรัพย์ดิจิทัลหลาย ๆ อย่าง เกิดขึ้นมาบนแนวคิด Decentralize ที่ไม่มีใครมาควบคุมเป็นหลัก
แต่เงินบาทดิจิทัล จะถูกออกมาและควบคุมโดย CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency หรือในที่นี้ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยเองค่ะ
แสดงว่าเงินที่ออกไปเหล่านี้ ก็จะถูกควบคุมโดยตรงจากศูนย์กลาง ที่สามารถรับรู้ และติดตามข้อมูลของการใช้จ่ายได้ทุกอย่าง ตัวอย่างการจ่ายให้นาย A ไปนาย B สู่นาย C จ่ายให้กันเท่าไรบ้าง ผ่านมือใครบ้าง ก็จะมีการบันทึกเอาไว้ทั้งหมดเลย จึงจะต่างจากเงินสดตรงที่ เงินสดมีโอกาสหลุดออกไปในขั้นตอนนี้ แล้วอาจจะถูกใช้ในการทำผิดกฎหมาย อย่างจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือซื้อยาเสพติด ก่อนที่จะผ่านกระบวนการฟอกเงินกลับมาใช้ให้ถูกอีกครั้งนั่นเอง
แต่หากกระเป๋าเงินบาทดิจิทัลของข้าราชการคนหนึ่ง มีเงินก้อนโตเข้ามาอย่างผิดปกติ ทางศูนย์กลางก็จะรับรู้ได้ในทันทีเช่นกันค่ะ อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือความผันผวนของราคา ในขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลหลาย ๆ อย่าง จะราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาด บางครั้งอาจจะขึ้นลง +10% และ -10% ในวันเดียวเลยค่ะ แต่เงินบาทดิจิทัล จะถูกผูกค่ากับเงินบาทแบบ 1:1 ซึ่งก็จะมีหน่วยงานอย่างธนาคารกลาง มาคอยควบคุมในจุดนี้อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนจนเกินไป
เงินดิจิทัล จะเป็นอนาคตแห่งโลกการเงิน ?
สำหรับโครงการเริ่มต้นใช้งานเงินบาทดิจิทัล หรือที่แบงค์ชาติเรียกว่าโครงการ Retail CBDC นี้ น่าจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า เป็นต้นไป เบื้องต้นจะเริ่มมีการปล่อยทดสอบใช้ในวงจำกัด เช่น การใช้งานกับเอกชนบางราย และนักพัฒนาที่ผ่านเกณฑ์ก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อศึกษาข้อมูล ศึกษาผลกระทบต่อระบบการเงินแบบเดิม และนำไปสู่การหาข้อสรุปในเรื่องกฎระเบียบ และข้อกฎหมายต่างๆ ตามมาค่ะ เงินบาทดิจิทัลนั้น หลังผ่านการทดสอบใช้งานในระยะแรก คาดว่าอีกไม่นานก็คงจะต้องมีการทดสอบใช้งานในภาคประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้นค่ะ
ถ้าถามว่าเงินบาทดิจิทัลคืออนาคตของการใช้จ่ายเงินในไทยหรือไม่ ?
ต้องบอกว่า “ระบบบล็อกเชน” จะเป็นอนาคตแห่งโลกการเงินอย่างแน่นอนมากกว่าค่ะ เพียงแต่ ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น? เพราะอนาคต Bitcoin อาจจะถูกนำมาใช้งานจริงก็เป็นได้ หรือเงินบาทดิจิทัล จะประสบความสำเร็จ ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย จนแทนที่เงินสดแบบเดิมได้ทั้งหมด ก็เป็นไปได้ค่ะ หรือในอนาคตอันใกล้ จะมีสกุลเงินกลางของโลก ที่เกิดขึ้นมาบนบล็อกเชน แล้วอาจจะเกิดการปฏิวัติระบบทั้งหมดไป ก็เป็นได้เช่นกันเลยนะคะ