หลายคนยังไม่สนใจการ เริ่มลงทุน เพราะคิดว่าไม่มีเงินมากพอบ้าง ไม่มีความรู้บ้าง บางคนอาจมองว่า ยังเร็วเกินไป ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนคิดว่าสายเกินไป เหตุผลที่ทำให้เราไม่ลงทุนอาจแตกต่างกัน แต่ 5 เหตุผลต่อไปนี้ อาจทำให้คุณเปลี่ยนความคิดและหันมา เริ่มลงทุนกันค่ะ
5 เหตุผลที่เราควรเริ่มลงทุน
1. อิสระภาพทางการเงิน
เป้าหมายของการลงทุน อาจไม่ใช่เพราะเราต้องการเป็น “คนรวย” แต่เพราะเราต้องการ หลีกเลี่ยงจากข้อจำกัดทางการเงินต่าง ๆ จะดีแค่ไหนหากเราใช้ชีวิตโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเงินเป็นเรื่องแรก จะดีแค่ไหนถ้าเราไม่ต้องทำงานเพื่อเงินอีกต่อไป ให้เงินทำงานหรือการมีอิสระภาพทางการเงิน อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายคนก็ทำให้เป็นจริงได้เพียงแค่ศึกษา แล้วเริ่มลงทุน
2. เริ่มลงทุน = ได้ทำตามความฝัน
หลายคนฝันอยากมีธุรกิจส่วนตัวบ้าง อยากเปิดร้านอาหารบ้าง อยากมีร้านกาแฟน่านั่ง บางคนฝันอยากมีบ้านที่สงบและอบอุ่นเป็นของตัวเอง ทุกความฝันล้วนมีต้นทุน ต้นทุนน้อยอาจใช้เวลาน้อยในการเก็บออม แต่ต้นทุนมากก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องใช้เวลามากเสมอไป เพราะเราสามารถใช้การลงทุนเข้ามาเป็นตัวเร่ง สมมุติเราต้องการเงินทุน 1 ล้านบาทเพื่อออกไปทำธุรกิจในฝันหากเราเก็บเงินเดือนละ 3,000 บาทเราต้องใช้เวลาเกือบ 28 ปี แต่หากเรานำเงินเก็บนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปีแบบทบต้น เราจะสามารถย่นเวลาให้เหลือเพียง 15 ปีเร็วกว่าการเก็บออมปกติเกือบเท่าตัว และหากเราเพิ่มจำนวนเงินลงทุนในแต่ละเดือน หรือลงทุนให้ได้ผลตอบแทนต่อปีสูงขึ้นก็จะยิ่งเป็นตัวเร่ง ให้เราได้ออกไปทำตามความฝันได้เร็วยิ่งขึ้น
3. พลังของดอกเบี้ยทบต้น
จากคำกล่าวที่ว่า “ออมก่อนรวยก่อน” ความร่ำรวยดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอานุภาพของดอกเบี้ยทบต้นเงิน 1 แสนบาทหากเราเก็บไว้เฉย ๆ ผ่านไป 6 ปีก็ยังคงเป็นเงิน 1 แสนบาท แต่หากเรานำไปลงทุนในตลาดหุ้นและได้ผลตอบแทนเท่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปีเงิน 1 แสนนั้นจะเปลี่ยนเป็น 2 แสนบาทหรือถ้าเรามีเงินทุนสัก 5 แสนได้ผลตอบแทนแบบทบต้นที่ 12% ต่อปี เมื่อผ่านไป 6 ปี เงิน 5 แสนนั้นจะเปลี่ยนเป็น 1 ล้านบาท และนี่คือความสัมพันธ์ของตัวเลข ที่ทำให้อัลเบิร์ตไอสไตน์ค้นพบทฤษฎีเลข 72“ นำเลย 72 เป็นตัวตั้ง หารด้วยผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีจากการลงทุน จะได้คำตอบเป็นระยะเวลาที่ทำให้เงินโตทบต้นขึ้นหนึ่งเท่าตัว” 72/12 = 6 นั่นหมายถึงหากเราลงทุนที่ผลตอบแทน 12% แบบทบต้นทุก ๆ 6 ปีเงินต้นของเราจะกลายเป็น 2 เท่า และนี่คือความมหัศจรรย์และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องลงทุน
4. การไม่เริ่มลงทุน คือความเสี่ยง
การลงทุนแม้จะมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเลยคือความเสี่ยงยิ่งกว่า เพราะนอกจากเราจะไม่ได้ดอกผลจากการลงทุน เรายังถูกเงินเฟ้อกัดกินเงินต้นโดยไม่รู้ตัว เมื่อก่อนเราอาจซื้อก๋วยเตี๋ยวเพียงชามละ 20 บาท แต่ปัจจุบันเราต้องใช้เงิน 30-40 บาทเพื่อให้ได้ก๋วยเตี๋ยวในปริมาณ 1 ชามเท่าเดิม แล้วในอนาคตล่ะ? ไม่ใช่เพราะแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวแพงขึ้นทุกปี แต่เป็นแพราะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกชนิดแพงขึ้นค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ราว ๆ 3% ต่อปีในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันได้ไม่ถึง 1% ถึงแม้เราจะมีเงินออม แต่หากนำไปฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว เงินต้นพร้อมผลตอบแทนที่ได้มาในอนาคตก็มีมูลค่าลดลงอยู่ดี นั่นเพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรเริ่มลงทุน อย่างน้อย ๆ ก็เพื่อรักษามูลค่าเงินต้นของเราเอง
5. การรู้จักใช้เงิน
ถ้าเรารู้จักการลงทุน ถ้าเราเข้าใจผลตอบแทนแบบทบต้น ถ้าเรารู้ว่าเงิน 40,000 บาทในวันนี้ อาจเปลี่ยนเป็น 80,000 บาทในอีก 6 ปีข้างหน้า หรืออาจกลายเป็นเงินมากกว่า 1 ล้านบาทในวัยเกษียณ (12% ทบต้น, 30 ปี) เราจะยิ่งรู้คุณค่าของเงิน และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
สรุป
การลงทุนทำให้เรารู้จักการออม ซึ่งทำให้เรามีวินัยทางการเงิน และทั้ง 5 เหตุผลที่คุณน้าพาเทรดได้กล่าวไปข้างต้นทำให้เรามองเห็นความสำคัญของการลงทุน ซึ่งการลงทุนยิ่งเราเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนก่อน นอกจากนี้คุณน้ามีบทความเกี่ยวกับประเภทการลงทุนให้คนได้ติดตาม เพื่อที่เราจะสามารถเลือกสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเองค่ะ
บทความในเรื่องการลงทุนที่น่าสนใจ : Investing
คลังความรู้จากคุณน้า : Knowledge